บาลีวันละคำ

ดวงชะตาราศี (บาลีวันละคำ 4,506)

ดวงชะตาราศี

คำลงท้ายแบบนี้ทำไมจะต้องเขียนผิดเป็น “ราศรี” ทุกทีไป

มีคำที่ควรรู้ 3 คำ คือ ดวง + ชะตา + ราศี 

(๑) “ดวง

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ดวง : (คำนาม) คำเรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นรูปกลม ๆ หรือที่เห็นเป็นวง ๆ เช่น ดวงดาว ดวงไฟ ดวงตรา ดวงกสิณ, และบางสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น ดวงชีวิต ดวงวิญญาณ; ลักษณนามเรียก จิต วิญญาณ หรือสิ่งที่มีแสงสว่าง เช่น ดาว ไฟฟ้า ตะเกียง ว่า ดวง; ใช้ประกอบคำอื่นเป็นคำเปรียบเทียบ เช่น ดวงใจ ดวงตา ดวงสมร หมายความถึงสิ่งที่เป็นที่รักยิ่ง หญิงที่รัก หรือ ลูกที่รัก; แบบรูปราศีที่บอกดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้น ๆ ในเวลาเกิดของคนหรือเวลาสร้างสิ่งสำคัญ เช่นบ้านเมืองเป็นต้นที่โหรคำนวณไว้โดยแบ่งเป็น ๑๒ ราศี เรียกว่า ดวง ซึ่งเป็นคำตัดมาจาก ดวงชะตา.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ – 

“ดวง : (คำนาม) คำเรียกสิ่งที่มีลักษณะเป็นรูปกลม ๆ หรือที่เห็นเป็นวง ๆ เช่น ดวงดาว ดวงไฟ ดวงตรา ดวงกสิณ, และบางสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น ดวงชีวิต ดวงวิญญาณ; ลักษณนามเรียก จิต วิญญาณ หรือ สิ่งที่มีแสงสว่าง เช่นดาว ไฟฟ้า ตะเกียง ว่า ดวง; ใช้ประกอบคำอื่นเป็นคำเปรียบเทียบ เช่น ดวงใจ ดวงตา ดวงสมร หมายความถึงสิ่งที่เป็นที่รักยิ่ง หญิงที่รัก หรือลูกที่รัก; ผังที่แสดงตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ ในท้องฟ้าขณะที่เกิดเหตุการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะดวงชะตากำเนิด ซึ่งกำหนดความเป็นไปในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เช่น ผูกดวง, เรียกเต็มว่า ดวงชะตา, ความเป็นไปในชีวิตตามกำหนดของดวงชะตา เช่น ดวงขึ้น ดวงตก.”

โปรดสังเกตคำนิยามท่อน 1 ท่อน 2 และท่อน 3 เหมือนกัน แต่คำนิยามท่อน 4 ต่างกัน

พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ว่า –

“แบบรูปราศีที่บอกดาวพระเคราะห์เดินถึงราศีนั้น ๆ ในเวลาเกิดของคนหรือเวลาสร้างสิ่งสำคัญ เช่นบ้านเมืองเป็นต้นที่โหรคำนวณไว้โดยแบ่งเป็น ๑๒ ราศี เรียกว่า ดวง ซึ่งเป็นคำตัดมาจาก ดวงชะตา.”

พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ว่า –

“ผังที่แสดงตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ ในท้องฟ้าขณะที่เกิดเหตุการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะดวงชะตากำเนิด ซึ่งกำหนดความเป็นไปในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เช่น ผูกดวง, เรียกเต็มว่า ดวงชะตา, ความเป็นไปในชีวิตตามกำหนดของดวงชะตา เช่น ดวงขึ้น ดวงตก.”

(๒) “ชะตา” 

ไม่ทราบว่าเราเอาคำนี้มาจากภาษาอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชะตา : (คำนาม) ลักษณะหรืออัธยาศัยบางอย่างที่ทำให้รู้สึกชอบหรือไม่ชอบตั้งแต่แรกพบกัน เช่น ถูกชะตากัน ไม่ถูกชะตากัน, ลักษณะที่บังเกิดสำแดงเหตุดีและร้าย เช่น ชะตาดีชะตาร้าย, ชาตา ก็ว่า.”

ที่คำว่า “ชาตา” ก็ใช้บทนิยามเดียวกันนี้ แล้วบอกว่า “ชะตา ก็ว่า”

เป็นอันว่า คำนี้พูดว่า “ชะตา” ก็มี “ชาตา” ก็มี 

ถ้าจะ “ลากเข้าวัด” ก็เหมาะที่จะบอกว่า “ชะตา” หรือ “ชาตา” มาจาก “ชาต” อ่านว่า ชา-ตะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + = ชนต > ชาต แปลว่า “เกิดแล้ว” 

ชาต” ในภาษาบาลีมักใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์

คำที่คล้ายกับ “ชาต” คือ “ชาติ” (ชา-ติ) มาจากธาตุตัวเดียวกัน แต่ปัจจัยคนละตัว คือ “ชาติ” รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา 

: ชนฺ + ติ = ชนติ > ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม ใช้ในความหมายดังต่อไปนี้:

1 การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

2 ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

3 จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

4 ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. Artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ชาติ” กับ “ชาต” ในบาลี บางทีก็ใช้แทนกัน

ชาตะ” หรือ “ชาตา” พูดไปพูดมา เพี้ยนเป็น ชะตะ > ชะตา

(๓) “ราศี

อ่านว่า รา-สี บาลีเป็น “ราสิ” (รา-สิ, –สิ สระ อิ ไม่ใช่สระ อี) รากศัพท์มาจาก รสฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + อิณ ปัจจัย, ลบ (อิณ > อิ), ทีฆะ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (รสฺ > ราส

: รสฺ + อิณ = รสิณ > รสิ > ราสิ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่ยินดี คือมารวมกันด้วยความยินดี” 

ราสิ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

1 กอง, ฝูง, หมู่ (heap, quantity, mass)

2 คลังสมบัติ, ทรัพย์สินเงินทอง (store of wealth, riches)

3 เครื่องหมายของจักรราศีทั้ง 12 (a sign of the Zodiac)

4 (คำเฉพาะในตรรกวิทยา) กลุ่ม, การรวมเป็นกลุ่ม, ชนิด, กอง, หมู่ (group, aggregate, category, congery) 

บาลี “ราสิ” สันสกฤตเป็น “ราศิ” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ราศิ : (คำนาม) นิกร, กอง, ปริมาณ, ประมาณ; ราศี (แห่งจักรราศิ); ประมาณในคณิตหรือพิชคณิตวิทยา; ภาคกับตัวหาร, หรือเศษกับส่วน; a heap, a quantity; a sign (of the zodiac); arithmetical or algebraic quantity; a part and its divisor; or numerator and denominator.”

ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ราศี” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ราศี” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ราศี ๑ : (คำนาม) กอง, หมู่, เช่น บุญราศี ว่า กองบุญ; ชื่อมาตราวัดจักรราศี คือ ๓๐ องศา เป็น ๑ ราศี, ถ้ากลุ่มดาวใดอยู่ในช่วงจักรราศีนั้น ก็เรียกชื่อราศีตามกลุ่มดาวนั้น เช่น ราศีเมษ ราศีกรกฎ, อาทิตย์โคจรรอบจักรวาลผ่านหมู่ดาว ๑๒ หมู่ และดาวหมู่หนึ่ง ๆ เรียกว่า ราศี ๑. (ส. ราศิ; ป. ราสิ).

(2) ราศี ๒ : (คำนาม) ความสง่างาม, ลักษณะดีงามของคน, เช่น หน้าตามีราศี, โดยปริยายหมายความว่า ความอิ่มเอิบ, ความภาคภูมิ, เช่น ได้ตำแหน่งดี ดูมีราศีขึ้น; สิริมงคล เชื่อกันว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า เวลากลางวันราศีอยู่ที่หน้าอก เวลากลางคืนราศีอยู่ที่เท้า.

การประสมคำ :

ดวง + ชะตา = ดวงชะตา 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

ดวงชะตา : (คำนาม) ผังที่แสดงตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ ในท้องฟ้าขณะที่เกิดเหตุการณ์บางอย่าง โดยเฉพาะดวงชะตากำเนิด ซึ่งกำหนดความเป็นไปในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์, เรียกสั้น ๆ ว่า ดวง.”

โปรดสังเกตว่า คำนิยามนี้ (ตั้งแต่ “ผัง…” จนถึง “…โหราศาสตร์”) ยกมาจากท่อนที่ 4 ของคำนิยามคำว่า “ดวง” นั่นเอง (ดูข้างต้น)

ดวงชะตา + ราศี = ดวงชะตาราศี แปลตามศัพท์ว่า “ดวงชะตาที่หมุนเวียนไปตามจักรราศี” 

คำว่า “ดวงชะตาราศี” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

คำว่า “ราศี” ที่มาต่อท้ายคำว่า “ดวงชะตา” เป็น “ดวงชะตาราศี” มีลักษณะคล้ายคำสร้อย คือคำที่เสริมเข้าข้างท้ายเพื่อให้คล้องจองฟังดูรื่นหู แต่ก็อาจแปลให้มีความหมายเข้ากันได้ด้วย

คำว่า “ราศี” นี้ เป็นคำแปลก ตรงที่-พบที่ไหนจะต้องเห็นสะกดเป็น “ราศรี” ทุกทีไป

คำที่สะกดเป็น “ศรี” อย่างนี้ มีแต่ที่ใช้เป็น “ศรี” เดี่ยว ๆ ไม่ต้องมี “รา-” นำหน้า 

ถ้ามี “รา-” นำหน้า ต้องเป็น “-ศี” ไม่ใช่ “-ศรี

คือต้องเป็น “ราศี” ไม่ใช่ “ราศรี

โปรดช่วยกันจำไว้ว่า คำที่สะกดเป็น “ราศรี” แบบนี้ ไม่มีใช้ ทั้งไม่ควร “อุตริ” ใช้ และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะพยายามหาเหตุผลมาอ้างว่า ใช้ได้ ไม่ผิด เพราะอย่างนี้ ๆ หรือเพราะอย่างนั้น ๆ

แต่ควรจะต้องช่วยกันย้ำว่า สะกดเป็น “ราศรี” ผิดเพราะอย่างนี้ ๆ

แถม :

คำที่สะกดเป็น “ศรี” เป็นรูปคำอิงสันสกฤต บาลีเป็น “สิริ

คำที่สะกดเป็น “ราศี” สันสกฤตเป็น “ราศิ” บาลีเป็น “ราสิ” ไม่ใช่ “ราสิริ”

ราศิ =ราสิ > ราศี มีใช้ มีคำนี้

แต่ ราศิริ =ราสิริ > ราศรี ไม่มีใช้ ไม่มีคำนี้

โปรดอย่าละเลย เลินเล่อ แล้วอ้างว่าภาษาเป็นสิ่งสมมุติ ไม่มีผิดไม่มีถูก ซึ่งเป็นข้ออ้างของคนเกียจคร้านที่จะศึกษาเรียนรู้ และทำให้ภาษาทราม

โปรดช่วยกันศึกษาเรียนรู้ และเอาใจใส่ ใช้ให้ถูกตามหลักเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้ภาษางาม

อีกเรื่องหนึ่งที่ประหลาดมากก็คือ คนสมัยนี้เขียนหนังสือผิดแล้วผิดเลย ไม่รับรู้ว่าตนเขียนผิด ปล่อยให้ผิดอยู่อย่างนั้น ไม่แก้ไข เขียนใหม่ เขียนอีก ก็เขียนผิดอีกเหมือนเดิม ไม่สังเกต ไม่สำนึกสำเหนียก แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้เหมือนเดิมอีก

ถ้าเป็นอย่างนี้กันมาก ๆ ต่อไปจะไม่ผิดเฉพาะเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษา แต่จะลามไปถึงเรื่องอื่น ๆ อีก ในที่สุดจะลามไปหมดทุกเรื่อง ทำผิดเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหายไปหมดทุกเรื่อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

มีคำพูดว่า –

คนดีชอบแก้ไข

คนจัญไรชอบแก้ตัว

: เพราะทำผิดแล้วไม่แก้ไข

: จึงเกิดความจัญไรไปทุกครอบครัว

#บาลีวันละคำ (4,506)

13-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *