บาลีวันละคำ

สัญญา – สัญญาณ (บาลีวันละคำ 4,507)

สัญญาสัญญาณ

ความต่างและความเหมือน

สัญญา” อ่านว่า สัน-ยา

สัญญาณ” อ่านว่า สัน-ยาน

รูปและเสียงคล้ายกัน แต่ความหมายมีทั้งต่างกันและเหมือนกัน

(๑) “สัญญา

เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺญา” อ่านว่า สัน-ยา รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: สํ > สญฺ + ญา + กฺวิ = สญฺญากฺวิ > สญฺญา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ” 

สญฺญา” ในบาลีมีความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้ (sense, consciousness, perception)

(2) ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก (sense, perception, discernment, recognition)

(3) แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ (conception, idea, notion)

(4) สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (sign, gesture, token, mark)

(5) ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) (sense impression and recognition)

(๒) “สัญญาณ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สญฺญาณ” อ่านว่า สัน-ยา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ญฺ (สํ > สญฺ), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น  

: สํ + ญา = สํญา + ยุ > อน = สํญาน > สญฺญาน > สญฺญาณ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องช่วยให้รู้พร้อมกัน” “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้พร้อมกัน” “รู้สิ่งที่พึงรู้พร้อมกัน” 

สญฺญาณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สัญชาน, ความรู้ (perception, knowledge) 

(2 เครื่องแสดง, เครื่องหมาย (token, mark)

(3) สิ่งที่ทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก (monument)

เปรียบเทียบ :

ในภาษาบาลี –

สญฺญา” รากศัพท์มาจาก สํ คำอุปสรรค + ญา ธาตุ + กฺวิ ปัจจัย

สญฺญาณ” รากศัพท์มาจาก สํ คำอุปสรรค + ญา ธาตุ + ยุ ปัจจัย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สัญญา” และ “สัญญาณ” ไว้ดังนี้ –

(1) สัญญา : (คำนาม) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจำ เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ. (คำกริยา) ให้คำมั่น, รับปาก, ทำความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).

(2) สัญญาณ : (คำนาม) เครื่องหมายหรือเครื่องแสดงไว้ให้เห็นหรือให้ได้ยินเป็นต้นแม้อยู่ในระยะไกล เพื่อให้รู้ล่วงหน้าจะได้ระวังอันตรายหรือกระทำตามที่บอกหรือแนะไว้ เช่น สัญญาณไฟจราจร สัญญาณธง ตีระฆังเป็นสัญญาณให้พระลงโบสถ์.

คำแปลคำว่า “สญฺญา” และ “สญฺญาณ” เป็นภาษาไทย ยกมาจากพจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ถ้ายกเฉพาะภาษาอังกฤษมาเทียบกันดู อาจช่วยให้เราเห็นอะไรบางอย่างชัดขึ้น

คำแปล “สญฺญา

(1) sense, consciousness, perception

(2) sense, perception, discernment, recognition

(3) conception, idea, notion

(4) sign, gesture, token, mark

(5) sense impression and recognition

คำแปล “สญฺญาณ

(1) perception, knowledge

(2 token, mark

(3) monument

คำแปลเป็นอังกฤษที่ตรงกันคือ perception, token, mark

คำแปลภาษาไทยจากพจนานุกรม บาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ แปลไว้ดังนี้ –

perception : 

ที่คำว่า “สญฺญา” แปลเป็นไทยว่า “ความจำได้, ความหมายรู้”

ที่คำว่า “สญฺญาณ” แปลเป็นไทยว่า “สัญชาน”

token : 

ที่คำว่า “สญฺญา” แปลเป็นไทยว่า “เครื่องแสดง”

ที่คำว่า “สญฺญาณ” แปลเป็นไทยว่า “เครื่องแสดง”

mark :

ที่คำว่า “สญฺญา” แปลเป็นไทยว่า “เครื่องหมาย”

ที่คำว่า “สญฺญาณ” แปลเป็นไทยว่า “เครื่องหมาย”

ในภาษาไทย “สัญญา” กับ “สัญญาณ” มีความหมาย (ตามพจนานุกรมฯ) ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ –

สัญญา” หมายถึง ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดนิติกรรมขึ้น

สัญญาณ” หมายถึง เครื่องหมายหรือเครื่องแสดงไว้ให้เห็นหรือให้ได้ยินเป็นต้นแม้อยู่ในระยะไกล

…………..

ดูก่อนภราดา!

เรียนคำ : ใช้กระบวนการบางอย่างก็พอเข้าใจไม่ยาก

เรียนคน : ใช้กระบวนการทุกอย่างก็ยังยากที่จะเข้าใจ

#บาลีวันละคำ (4,507)

14-10-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *