บาลีวันละคำ

บถ ที่ไม่ใช่ บท (บาลีวันละคำ 4,508)

บถ ที่ไม่ใช่ บท

คำว่า “-บถ” ถ ถุง สะกด และ “-บท” ท ทหาร สะกด อ่านออกเสียงเหมือนกันว่า บด แต่รากศัพท์คือ “ธาตุ” ไม่เหมือนกัน

(๑) “บถ” ถ ถุง สะกด

บาลีเป็น “ปถ” อ่านว่า ปะ-ถะ รากศัพท์มาจาก ปถฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย 

: ปถฺ + = ปถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นเครื่องเดินไป” (2) “ที่เป็นที่ไป” (3) “ที่อันผู้มีกิจน้อยใหญ่เกิดขึ้นดำเนินไป” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปถ” (ถ ถุง สะกด) ว่า path, road, way (หนทาง, ถนน, ทาง) 

บาลี “ปถ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บถ : (คำแบบ) (คำนาม) ทาง เช่น กรรมบถ. (ป. ปถ).”

(๒) “บท” ท ทหาร สะกด

บาลีเป็น “ปท” อ่านว่า ปะ-ทะ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + (อะ) ปัจจัย

: ปทฺ + = ปท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปท” (ท ทหาร สะกด) ดังนี้ –

(1) foot (เท้า)

(2) step, footstep, track (การก้าว, รอยเท้า, ทาง)

(3) way, path (หนทาง, ช่องทาง)

(4) position, place (ตำแหน่ง, สถานที่) 

(5) case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element (กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน)

(6) a word, verse [or a quarter of a verse], stanza, line, sentence (คำ, ฉันท์ [หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์], โศลก, บท, ประโยค)

ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.

(2) กำหนดคำประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท

(3) คำที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.

(4) คำประพันธ์ที่เขียนขึ้นสำหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.

(5) คราว, ตอน, ในคำเช่น บทจะทำก็ทำกันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.

…………..

ปถ” (ถ ถุง สะกด) และ “ปท” (ท ทหาร สะกด) ในภาษาสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ปถ : (คำนาม) ‘บถ,’ ทาง; a road.

(2) ปท : (คำนาม) ‘บท,’ รอยเท้า; ศัพท์, คำ; คำอันเปลี่ยนรูปแล้ว; อสังสกฤตศัพท์: ประโยคต่อ, ความต่อหรือความรวม; พัสดุ, สิ่ง, ของ; การป้องกัน; อุตสาหะ, วิธาน; การปลอมแปลง; สถาน, ที่; ราศี, สถิติ, ประมาณ; เครื่องหมาย, จุด; บทหรือบันทัดโศลก; รัศมี, ‘สายแสง’ ก็เรียก; a footstep, the impression or mark of the foot; a word; a crude word; an inflected word; a connected sentence; thing; preservation, defence; industry, application; disguise; place, site; rank, station, degree; a mark, a spot; a foot or line of stanza; a ray of light.

โปรดสังเกตว่า สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ปถ” (ถ ถุง สะกด) ในภาษาอังกฤษไว้คำเดียว คือ a road แต่บอกความหมายของ “ปท” (ท ทหาร สะกด) ไว้ถึง 21 คำ และในจำนวน 21 คำนั้น ก็ไม่มีคำว่า road รวมอยู่ด้วย

อภิปรายขยายความ :

ในภาษาไทย มีคำบางคำที่มาจากบาลีสันสกฤตลงท้ายด้วย “-บถ” ถ ถุง สะกด แต่คนมักเขียนผิดเป็น “-บท” ท ทหาร สะกด เหตุผลที่ยกมาอ้างกันก็คือ เราคุ้นกับ “-บท” ท ทหาร มากกว่า “-บถ” ถ ถุง

การอ้างเช่นนี้ไม่เป็นเหตุให้คำที่ต้องสะกดเป็น “-บถ” ถ ถุง แต่ไปสะกดเป็น “-บท” ท ทหาร กลายเป็นคำที่ถูกต้องขึ้นมาได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอวิธีแก้คือ –

(1) อย่าอ้างว่าสะกดผิดก็ไม่เสียหาย การอ้างเช่นนี้ส่อถึงความเป็นคนมักง่าย ไม่ใช่ลักษณะที่พึงประสงค์ แต่จงเห็นโทษของการสะกดผิดโดยระลึกไว้เสมอว่า สะกดผิดคือเสียหาย เพราะทำให้ภาษาที่งามกลายเป็นภาษาที่ทราม

(2) เมื่อเห็นโทษเช่นนั้นแล้ว ต่อไปก็คือตั้งใจเขียนให้ถูก เห็นคำอะไรที่แปลกกว่าปกติให้สงสัยไว้ก่อนเสมอว่าสะกดอย่างไรถูก อย่าตกเป็นทาสของความเคยชิน พึงระลึกว่า ถ้ามักง่ายเรื่องเขียนถ้อยคำได้เรื่องหนึ่ง ต่อไปจะมักง่ายได้หมดทุกเรื่อง

(3) วิธีที่ช่วยให้สะกดคำถูกได้ดีที่สุดคือ หมั่นเปิดพจนานุกรม วิธีนี้ส่งผลไปในระยะยาว คือทำให้เป็นคนระมัดระวังในการเขียนหนังสือ และขยายไปถึงการระมัดระวังในเรื่องอื่น ๆ ด้วย อันเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์

(4) ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขอแนะนำให้ใช้วิธีจำเป็นคำ ๆ ไว้ก่อน คำที่ลงท้ายด้วย “-บถ” ถ ถุง เท่าที่นึกได้และเห็นมีใช้กันอยู่มี 2 คำ คือ “อิริยาบถ” และ “กรรมบถ

จะใช้วิธีจำเป็นคำคล้องจองก็ได้ เช่น –

“บถอิริยาและบถกรรม จงจำไว้ ใช้ ถ ถุง”

จำให้ติดใจ พูดไว้ให้ติดปาก เวลาเขียนคำ 2 คำนี้ จะได้ไม่สะกดผิด

หรือใครจะมีเทคนิคอะไรอีกที่จะช่วยไม่ให้สะกดผิด ก็ช่วยกันคิดขึ้นมาใช้เถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ามนุษย์เกิดมากิน ๆ นอน ๆ แล้วก็ตายไป

จะต่างอะไรจากสัตว์?

: ถ้าคนไทยไม่เห็นคุณค่าของภาษาไทย

จะเหลืออะไรไว้เป็นสมบัติ?

#บาลีวันละคำ (4,508)

15-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *