บาลีวันละคำ

เจริญภาวนา (บาลีวันละคำ 2,759)

เจริญภาวนา

เป็นคำซ้ำซ้อนหรือไม่

มีผู้แสดงความเห็นว่า คำว่า “เจริญภาวนา” เป็นคำซ้ำซ้อน เพราะ “ภาวนา” แปลว่า “เจริญ” อยู่แล้ว “เจริญภาวนา” ก็ต้องแปลว่า “เจริญเจริญ” จึงเป็นคำซ้ำซ้อน

ขอให้ศึกษาความหมายตามพจนานุกรมก่อน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) เจริญ : (คำกริยา) เติบโต, งอกงาม, ทําให้งอกงาม, เช่น เจริญทางพระราชไมตรี เจริญสัมพันธไมตรี, มากขึ้น; ทิ้ง เช่น เจริญยา, จำเริญยา ก็ว่า; ตัด เช่น เจริญเกศา, จำเริญเกศา ก็ว่า; สาธยาย, สวด, (ในงานมงคล) เช่น เจริญพระพุทธมนต์.

(2) ภาวนา : (คำนาม) การทําให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นทางจิตใจ. (คำกริยา) สำรวมใจให้แน่วแน่เป็นสมาธิ เช่น สวดมนต์ภาวนา, สำรวมใจตั้งความปรารถนา เช่น นั่งภาวนาขอให้พระช่วย. (ป.).

เจริญ” เป็นภาษาไทย ความหมายก็ควรจบแค่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ส่วน “ภาวนา” เป็นคำบาลี ควรตามไปดูความหมายในบาลีต่อไปอีก

ภาวนา” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (อา-วะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ภู + ยุ > อน = ภูน > โภน > ภาวน + อา = ภาวนา แปลตามศัพท์ว่า “คุณชาตที่ยังกุศลให้มีขึ้น” หมายถึง การทำให้เกิด, การอาศัยบางสิ่ง, การพร่ำคิดถึง (อะไรบางอย่าง), การเอาใจใส่, การทำให้พัฒนาโดยความคิดหรือวิปัสสนา, การปลูกฝังด้วยจิตใจ, การเพาะใจ (producing, dwelling on something, putting one’s thoughts to, application, developing by means of thought or meditation, cultivation by mind, culture)

โปรดสังเกตไว้ว่า “ภาวนา” เป็นคำนาม

ในคำว่า “เจริญภาวนา” นี้ “ภาวนา” ควรจะหมายถึงอะไร?

มีหลักธรรมชุดหนึ่ง เรียกว่า “ภาวนา” มี 2 ข้อ คือ –

(1) สมถภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ (tranquillity development)

(2) วิปัสสนาภาวนา หมายถึง การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา (insight development)

ธรรมทั้งสองนี้บางทีก็เรียก “กรรมฐาน” คือ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน

คำว่า “เจริญภาวนา” ถ้าเปลี่ยนเป็น “เจริญกรรมฐาน” ก็จะเห็นได้ว่าเป็นคำที่ถูกต้อง

เจริญกรรมฐาน” คือทำให้กรรมฐานเจริญขึ้น

เจริญภาวนา” คือทำให้ภาวนา-ซึ่งหมายถึง “กรรมฐาน” เจริญขึ้น

ความหมายในวงกว้าง “ภาวนา” หมายถึง วิธีการอย่างใดๆ ก็ตามเพื่อทำให้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมีขึ้น งอกงามขึ้นในใจ

เจริญ” เป็นคำกริยา

ภาวนา” ในที่นี้เป็นคำนาม

ว่าตามโครงสร้างประโยค :

เจริญ” เป็นกริยา

ภาวนา” เป็นกรรม = สิ่งที่ถูกทำ

ภาวนา” ไม่ใช่คำกริยา

เจริญภาวนา” จึงไม่ใช่คำซ้ำซ้อน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศัตรูร้ายมักมาในคราบของมิตร

: ความเสื่อมสารพัดพิษมักมาในคราบของความเจริญ

#บาลีวันละคำ (2,759)

1-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *