บาลีวันละคำ

โกตูหล (บาลีวันละคำ 2,800)

โกตูหล

เพื่อนกับ “โกลาหล

ในภาษาไทยมีคำที่เรารู้ความหมายกันดี คือ “โกลาหล” (โก-ลา-หน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โกลาหล : (คำนาม) เสียงกึกก้อง. (คำวิเศษณ์) อื้ออึง, เอิกเกริก, วุ่นวาย, (คำโบราณ; คำที่ใช้ในบทกลอน) ใช้เป็น โกลา โกลี ก็มี เช่น เสียงโห่โกลาเกรียงไกร. (คําพากย์), พระกุมารโกรธใจเป็นโกลี. (ไชยเชฐ). (ป., ส.).”

โกลาหล” เป็นคำบาลีสันสกฤต

ในบาลียังมีอีกคำหนึ่งที่รูปและเสียงใกล้กับ “โกลาหล” แต่เราไม่ได้เอามาใช้ในภาษาไทย นั่นคือคำว่า “โกตูหล

โกตูหล” บาลีอ่านว่า โก-ตู-หะ-ละ รากศัพท์มาจาก กุ (บาป, ความชั่ว) + ตุชฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อล ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ เป็น โอ (กุ > โก), ทีฆะ อุ ที่ ตุ-(ชฺ) เป็น อู (ตุชฺ > ตูชฺ), แปลง ชฺ เป็น

: กุ + ตุชฺ = กุตุชฺ + อล = กุตุชล > โกตุชล > โกตูชล > โกตูหล (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เบียดเบียนบาป” (คือทำให้แย่งกันทำความดี) หมายถึง ความตื่นเต้น, ความยุ่งเหยิง, งานรื่นเริง, มหกรรม, ความโกลาหล (excitement, tumult, festival, fair)

โกตูหล” ในบาลีประกอบคำที่น่าสนใจบางคำ เช่น:

โกตูหลมงฺคล (โก-ตู-หะ-ละ-มัง-คะ-ละ) งานโกตูหลมงคล คือการรื่นเริง, มหกรรม, พิธีกรรม (a festivity, ceremony)

โกตูหลสาลา (โก-ตู-หะ-ละ-สา-ลา) ศาลาโกตูหล คือศาลาพักร้อน, ห้องสาธารณะที่มักมีผู้คนเข้าไปทำกิจกรรมกันอึกทึกขวักไขว่ (a hall for recreation, a common room)

ถ้าใช้ในภาษาไทย “โกตูหล” อ่านว่า โก-ตู-หน แต่คำนี้เราไม่ได้เอามาใช้

ใครเบื่อคำว่า “โกลาหล” จะลองเปลี่ยนมาใช้ “โกตูหล” ดูบ้างก็ได้ จะได้ช่วยเพิ่มความรุ่มรวยให้แก่ภาษาของเรา

โกตูหล” ในบาลีใช้เป็น “กุตูหล” (กุ-ตู-หะ-ละ) อีกรูปหนึ่ง ถ้ามี – (อะ) ปฏิเสธข้างหน้าเป็น “อกุตูหล” แปลว่า ไม่ตื่นเต้น, ไม่วุ่นวาย, ไม่พลุ่งพล่านเพ้อเจ้อ คือสามารถคุมสติอยู่ได้

แถม :

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งในคัมภีร์ชาดก กล่าวถึงคน “อกุตูหล” ไว้ส่วนหนึ่งด้วย มีความว่าดังนี้ –

อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺฉนฺติ

มนฺตีสุ อกุตูหลํ

ปิยญฺจ อนฺนปานมฺหิ

อตฺเถ ชาเต จ ปณฺฑิตํ.

(อุกกัฏเฐ สูระมิจฉันติ

มันตีสุ อะกุตูหะลัง

ปิยัญจะ อันนะปานัมหิ

อัตเถ ชาเต จะ ปัณฑิตัง.)

คำแปล –

คราวคับขัน ต้องคนกล้า

ยามปรึกษา ต้องการคนไม่พูดพร่ำ

เวลามีข้าวน้ำ ต้องการคนเป็นที่รักแห่งตน

เมื่อจะต้องใช้เหตุผล ต้องการบัณฑิต

ที่มา: มหาสารชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๙๒

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คิดดีต่อกันอย่างวุ่นวาย

: ดีกว่าคิดร้ายต่อกันอย่างเงียบสงบ

#บาลีวันละคำ (2,800)

11-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *