บาลีวันละคำ

คำเรียกชื่อบทสวดมนต์ (บาลีวันละคำ 2,690)

คำเรียกชื่อบทสวดมนต์

บันทึกไว้ เผื่อว่านานไปจะไม่มีใครรู้จัก

บทสวดมนต์ที่พระสงฆ์ท่านสวดในเวลาทำวัตรสวดมนต์หรือในงานต่างๆ และที่ชาวพุทธนิยมสวดประจำวันล้วนแต่มีชื่อเรียก ถ้าเป็นพระสูตรหรือพระปริตรที่นำมาจากพระไตรปิฎกก็นิยมเรียกชื่อตามชื่อพระสูตรนั้นๆ ถ้าเป็นบทที่รจนาขึ้นใหม่ก็จะมีชื่อเรียกต่างๆ กันออกไป

ชื่อบทสวดมนต์อาจแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ คือ –

๑ ชื่อเต็มตามชื่อพระสูตรนั้นๆ อาจเทียบได้กับชื่อ “ชื่อจริง

๒ ชื่อที่เรียกกันติดปาก อาจเทียบได้กับ “ชื่อเล่น

บาลีวันละคำวันนี้ขอเสนอคำเรียกชื่อบทสวดมนต์บางบทที่เรียกกันติดปาก เท่าที่พอจะนึกได้ สำหรับคนทั่วไปเมื่อได้ยินชื่อนั้นๆ จะได้รู้ว่าหมายถึงบทสวดบทไหน ทั้งนี้ขอให้ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาษาบาลี

(๑) “พาหุงมหากา” นิยมเรียกควบกัน

พาหุง” หมายถึงบทชยมังคลัฏฐกคาถา ซึ่งมีคำขึ้นต้นว่า “พาหุงสะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง”

มหากา” หมายถึงบทชยปริตร มีคำขึ้นต้นว่า “มะหาการุณิโก นาโถ”

(๒) “ชะยันโต” หมายถึงบทชยปริตรหรือ “มหากา” นั่นเอง แต่ตัดตอนไปขึ้นตรงบทที่ว่า “ชะยันโต โพธิยา มูเล”

(๓) “สัพพะโร” หมายถึงบทอนุโมทนาอย่างย่อ ใช้ในกรณีที่พระฉันเสร็จแล้วอนุโมทนาอย่างไม่เป็นพิธีการ มีคำขึ้นต้นว่า “สัพพะโรคะวินิมุตโต”

(๔) “ธัมมะจัก” หมายถึงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

(๕) “อะทิตอะนัต” ชื่อนี้มี 2 พระสูตร แต่นิยมเรียกควบกัน

อะทิต” เรียกเพี้ยนมาจาก “อาทิต” หมายถึงอาทิตตปริยายสูตร

อะนัต” หมายถึงอนัตตลักขณสูตร

(๖) “ยานี” หมายถึงรตนสูตร มีคำขึ้นต้นว่า “ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ”

(๗) “กะระณี” หมายถึงกรณียเมตตสูตร มีคำขึ้นต้นว่า “กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ”

(๘) “วิรูปักเข” หมายถึงขันธปริตร มีคำขึ้นต้นว่า “วิรูปักเขหิ เม เมตตัง”

(๙) “ยันทุน” หมายถึงอภยปริตร มีคำขึ้นต้นว่า “ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ”

(๑๐) “วิปัสสิส” (วิ-ปัด-สิด) หมายถึงอาฏานาฏิยปริตร มีคำขึ้นต้นว่า “วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต”

(๑๑) “อะเสวะนา” หมายถึงมังคลสูตร พระสูตรนี้พระรุ่นเก่าจะขึ้นตั้งแต่ “เอวัมเม สุตัง” ต่อมามักตัดตอนขึ้นตั้งแต่ “พะหู เทวา มะนุสสา จะ” ปัจจุบันมักตัดออกไปอีก ไปขึ้นที่บทว่า “อะเสวะนา จะ พาลานัง”

(๑๒) “ฉัม” (อ่านว่า ฉำ) หมายถึงธชัคคสูตร ชื่อนี้รับรองได้ว่าพระสงฆ์หรือนักสวดมนต์รุ่นใหม่ไม่รู้จัก นอกจากไม่รู้จักแล้วอาจจะสวดไม่ได้เอาด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เป็นพระสูตรสำคัญมาก เรียกกันว่า “พระสูตรยอดธง”

พระสูตรนี้พระรุ่นเก่าจะขึ้นตั้งแต่ “เอวัมเม สุตัง” อันเป็นคำเริ่มต้นพระสูตรทั่วไป

ข้อความในบทสวดตอนหนึ่งมีว่า “ยัมภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา” (แปลว่า ความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนพองสยองเกล้าอันใด จักมี)

ตรงคำว่า “ฉัม-…” นั้น เวลาสวดมักจะลงเสียงหนัก หรือที่ภาษาสวดมนต์เรียกว่า “กระทุ้ง” ข้อความ 10 ท่อน มีคำว่า “ฉัม-…” ให้กระทุ้งซ้ำกัน 10 ครั้ง คำว่า “ฉัม-…” ติดปาก ติดหู และติดใจ จึงพากันเรียกชื่อพระสูตรนี้เป็นภาษาปากหรือ “ชื่อเล่น” ว่า “ฉัม

พระรุ่นเก่า พอพูดว่า “ฉัม” จะรู้กันดีว่าหมายถึงธชัคคสูตร

ในธชัคคสูตรนี้มีบทพระพุทธคุณ (อิติปิ โสภะคะวาติ) พระธรรมคุณ (สวากขาโตวิญญูหีติ) พระสังฆคุณ (สุปะฏิปันโนโลกัสสาติ) แทรกอยู่ในระหว่างเนื้อพระสูตร พระรุ่นใหม่นิยมสวดลัดตัดข้อความ (อ้างว่าเวลาเร่งรัด) จึงมักสวดแบบ “ชักไส้” คือชักออกมาสวดเฉพาะ “อิติปิ โส ภะคะวาโลกัสสาติ” ข้อความอันเป็นตัวพระสูตรแท้ๆ ไม่สวด

ครั้นนานเข้า นอกจากไม่สวดเนื้อพระสูตรแล้ว ยังไม่นิยมท่องอีกต่างหาก (อ้างว่าท่องไว้ก็ไม่ได้สวด)

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์เมืองไทยเวลานี้ที่ท่องจำสวดธชัคคสูตรได้เต็มพระสูตรน่าจะหาไม่ได้แล้ว วิริยะอุตสาหะของมนุษย์เสื่อมลงไปได้ถึงเพียงนี้

ชื่อบทสวดมนต์ที่เรียกกันติดปากหรือ “ชื่อเล่น” เท่าที่นึกได้ในเวลานี้มีเพียงเท่านี้ (ความจริงยังมีอีก) ขอนำมาบันทึกไว้เป็นบาลีวันละคำ เผื่อว่านานไปจะไม่มีใครรู้จัก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บุญมีอยู่ในบทสวดมนต์

: แต่อย่าพึงเข้าใจว่าเพียงท่องๆ บ่นๆ ก็จะได้บุญ

#บาลีวันละคำ (2,690)

24-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย