อาภัพอัปภาคย์ (บาลีวันละคำ 2,799)
อาภัพอัปภาคย์
อ่านว่า อา-พับ-อับ-ปะ-พาก
ประกอบด้วยคำว่า อาภัพ + อัปภาคย์
(๑) “อาภัพ”
บาลีเป็น “อภพฺพ” (อะ-พับ-พะ) รากศัพท์มาจาก น (ไม่, ไม่ใช่) + ภพฺพ
(ก) “ภพฺพ”
คัมภีร์ธาตุปฺปทีปิกา หรือพจนานุกรมบาลี-ไทย ของหลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ (ทวี ธรมธัช ป.9) บอกว่า “ภพฺพ” มาจาก ภพฺพ ธาตุ (เบียดเบียน)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “ภพฺพ” รากศัพท์มาจาก ภู ธาตุ (มี, เป็น)
ถ้ามาจาก ภู ธาตุ กระบวนการกลายรูปคือ แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว, แปลง ว เป็น พ, ซ้อน พฺ
: ภู > โภ > ภว > ภพ > ภพฺพ
“ภพฺพ” (พับ-พะ) เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า –
(1) สามารถ, เหมาะสำหรับ, สมควร (able, capable, fit for)
(2) เป็นไปได้ (possible)
(ข) น + ภพฺพ แปลง น เป็น อ
: น + ภพฺพ = นภพฺพ > อภพฺพ (อะ-พับ-พะ)
“อภพฺพ” เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า –
(1) ไม่สามารถ, ไม่เหมาะ (unfit, incapable)
(2) เป็นไปไม่ได้ (impossible)
ขยายความว่า “ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้อย่างแน่นอน” ตัวอย่างเช่น:
– ดวงอาทิตย์เป็นอภัพพะที่จะขึ้นทางทิศตะวันตก
– คนที่ฆ่าพ่อฆ่าแม่เป็นอภัพพะที่จะได้บรรลุธรรม
“อภพฺพ” เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทย ยืดเสียง “อ” เป็น “อา” และไม่ออกเสียงพยางค์ท้าย จึงได้รูปเป็น “อาภัพ” (อา-พับ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาภัพ : (คำวิเศษณ์) ปราศจากโชค, เคราะห์ร้าย, วาสนาน้อย, ตกอับ. (ป. อภพฺพ ว่า ไม่สมควร).”
(๒) “อัปภาคย์”
เทียบบาลีเป็น “อปภาคฺย” อ่านว่า อะ-ปะ-พาก-เคียะ รากศัพท์มาจาก อป + ภาคฺย
(ก) “อป” (อะ-ปะ) เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “อป ปราศ, หลีก” คือ “อป” หมายถึง “ปราศ” และหมายถึง “หลีก”
“ปราศ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่าเป็นคำเดียวกับ “ปราศจาก” ในภาษาไทยเป็นคำกริยา แปลว่า พ้นไป, ไม่มี
“หลีก” พจนานุกรมฯ แปลว่า หลบสิ่งที่กีดขวาง, เลี่ยง, ขยับไปให้พ้นที่เดิม, ให้ทาง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของ “อป” ว่า –
Well-defined directional prefix, meaning “away from, off” (เป็นอุปสรรคบอกทิศทางให้ชัดเจนดีขึ้น, หมายถึง “ปราศ, หลีก”)
(ข) “ภาคฺย” รากศัพท์มาจาก ภค (โชคดี, เคราะห์ดี) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ค) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ภค > ภาค)
: ภค + ณฺย = ภคณฺย > ภคฺย > ภาคฺย แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นที่มีการจำแนกผลทั้งน่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา” หมายถึง โชคดี, ลาภ (good luck, fortune)
อป + ภาคฺย = อปภาคฺย (อะ-ปะ-พาก-เคียะ) แปลว่า “ผู้มีโชคดีไปปราศแล้ว” หมายถึง ไม่มีโชค, โชคไม่ดี, ไม่ได้รับสิ่งที่ดี
โปรดทราบว่า รากศัพท์ตามที่แสดงมานี้เป็นการแสดงตามหลักภาษา ในคัมภีร์ยังไม่พบศัพท์ว่า “อปภาคฺย”
“อปภาคฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัปภาคย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัปภาคย์ : (คำวิเศษณ์) ปราศจากโชค, เคราะห์ร้าย, วาสนาน้อย; ไม่มีดี เช่น จะดูดินฟ้าพนาวัน สารพันอัปภาคย์หลากลาง. (อิเหนา), นิยมใช้เข้าคู่กับคำ อาภัพ เป็น อาภัพอัปภาคย์, อปภาคย์ ก็ว่า. (ส.).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเสียใจถ้าใครๆ ไม่เห็นความดีของเรา
: แต่น่าเศร้าถ้าเราไม่เห็นความดีของใครๆ
#บาลีวันละคำ (2,799)
10-2-63