ภัณฑารักษ์ (บาลีวันละคำ 2,822)
ภัณฑารักษ์
ต้องเป็นมากกว่า “คนเฝ้าของ”
อ่านว่า พัน-ทา-รัก
แยกศัพท์เป็น ภัณฑ + อารักษ์
(๑) “ภัณฑ”
บาลีเป็น “ภณฺฑ” (พัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ภฑิ > ภํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + ก = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป
“ภณฺฑ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions) (2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”
(๒) “อารักษ์”
บาลีเป็น “อารกฺข” (อา-รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่งขึ้นไป) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: อา + รกฺข + อ = อารกฺข แปลตามศัพท์ว่า “การดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)
เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “อารกฺข” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้
ความหมายของ รกฺขติ :
(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)
(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals])
(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])
“อารกฺข” สันสกฤตเป็น “อารกฺษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อารกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation;- (คุณศัพท์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”
“อารกฺข” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อารักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อารักษ์ : (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล; เทวดาผู้พิทักษ์รักษา, มักใช้ว่า เทพารักษ์ หรือ อารักษเทวดา. (ส.; ป. อารกฺข).”
ภณฺฑ + อารกฺข = ภณฺฑารกฺข (พัน-ดา-รัก-ขะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษาสิ่งของ” หมายถึง ผู้ดูแลระวังป้องกันไม่ให้สิ่งของสูญหายหรือเป็นอันตราย
“ภณฺฑารกฺข” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภัณฑารักษ์” (พัน-ทา-รัก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัณฑารักษ์ : (คำนาม) ผู้ดูแลรักษาสิ่งของ โดยมากได้แก่จำพวกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในพิพิธภัณฑสถานเป็นต้น. (ส. ภาณฺฑารกฺษ).”
อภิปราย :
เมื่อราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาและก่อนหน้านั้น ใครไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็จะได้เห็นเจ้าหน้าที่นั่งเฝ้าอยู่ตามจุดต่างๆ ที่มีสิ่งของสำคัญตั้งแสดง เรารู้จักกันว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นคือ “ภัณฑารักษ์”
เจ้าหน้าที่ “ภัณฑารักษ์” เหล่านั้นมักนั่งนิ่งๆ ไม่พูดอะไรกับประชาชนที่เข้าไปเที่ยวชม ถามอะไรเกี่ยวสิ่งของที่นั่งเฝ้าอยู่ ก็มักไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า “ภัณฑารักษ์” มีหน้าที่เฝ้าสิ่งของเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อธิบายชี้แจงหรือให้ความรู้ใดๆ แก่ผู้ที่มาเที่ยวชม
เจ้าหน้าที่เหล่าจะเป็น “ภัณฑารักษ์” ตัวจริง หรือเป็นเพียง “คนเฝ้าของ” ธรรมดา แต่เราเข้าใจกันไปเองว่าเป็น “ภัณฑารักษ์” ก็อาจเป็นได้
ปัจจุบันนี้ตำแหน่ง “ภัณฑารักษ์” ก็ยังมีอยู่ แต่บุคลิกแบบ “คนเฝ้าของ” ได้พัฒนาก้าวหน้าไปไกลแล้ว
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระไตรปิฎกไม่ใช่ของเก่า
: อย่าเป็นเพียงแค่คนเฝ้าพิพิธภัณฑ์
4-3-63