บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ภาษาประดิษฐ์

ภาษาประดิษฐ์

————————-

สุดแต่ดวงจิตจะอบรมมา

ผมเห็นภาพจากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่มีผู้เอามาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก 

ผมสนใจเฉพาะด้านภาษา 

ใครจะเป็นฝ่ายไหน เชิญว่ากันตามอัธยาศัย ผมไม่ทะเลาะด้วย 

ผมขอแสดงความเห็นเป็นเบื้องต้นว่า ภาษาที่เราเห็นจากการชุมนุมนั้นล้วนเป็น “ภาษาประดิษฐ์”

“ภาษาประดิษฐ์” หมายถึงภาษาที่จงใจหรือแกล้งเขียน ด้วยเจตนาที่จะให้กระทบหูกระทบตาแล้วพาไปกระทบใจ 

ใครรู้ไม่ทัน ก็หลงชอบหลงชังไปตามที่เขาเจตนาจะให้เป็น 

………………

มีอยู่ภาพหนึ่ง เขาเขียนว่า 

“ผัวก็อยากได้ ประชาธิปไตยก็อยากมี” (ดูภาพประกอบ)

อ่านแล้วก็ซู่ซ่าดี 

แต่ผมพอรู้ทัน-ว่านี่เป็นภาษาประดิษฐ์ คนที่คิดข้อความนี้อาจเป็นผู้ชายด้วยซ้ำไป 

ที่เราไม่รู้อย่างหนึ่งก็คือ เวลาคนพวกนี้อยู่กันตามลำพังพวกเขา ในมุมที่เขากำลังคิดกำลังเขียนข้อความพวกนี้ หรือแม้แต่เวลาที่เขากลับบ้านแล้ว ไปอยู่กับชีวิตประจำวันจริงๆ เขาคุยอะไรกันบ้าง เขาพูดถึงใครว่าอย่างไรบ้าง 

เรื่องจริงธาตุแท้ของพวกเขาอยู่ตรงมุมนั้น แต่พวกเราที่ได้เห็นแต่ข่าวได้ดูแต่ภาพที่เขาต้องการให้เห็น-ไม่ได้ยินไม่ได้เห็นตรงนั้นด้วย 

สื่อต่างๆ ก็ไม่เคยเจาะลึกไปเอามาให้ประชาชนได้เห็นได้ฟัง 

ก็ไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง

ตอนที่นักการเมืองหาเสียง ตอนที่อยู่บนเวที แม้แต่ตอนที่อภิปรายในสภามีการถ่ายทอดให้ประชาชนได้ฟัง ตอนนั้นล้วนแต่เป็นภาพประดิษฐ์ เป็นภาษาประดิษฐ์ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อต้องการให้ประชาชนได้ยินได้เห็นแบบนั้น-แบบที่เขาต้องการ 

แต่ตอนที่เขาอยู่ในหมู่พวกของเขา ตอนที่เขาคุยกันในวงข้าววงเหล้าเฉพาะพวกเขา เฉพาะญาติพี่น้องของเขา เขาพูดถึงใครว่าอย่างไร เขามองประชาชนอย่างไร 

เรื่องจริงธาตุแท้ของพวกเขาตรงนั้นประชาชนไม่มีโอกาสได้รู้ ไม่เคยมีสื่อสาขาไหนลงทุนไปสืบเสาะมาให้ประชาชนได้รับรู้

ผมแค่ชวนให้คิดนะครับ

ไม่ได้ชวนให้ชอบหรือชังใคร

ใครจะชอบใครชังใคร เชิญตามอัธยาศัย

………………

ย้อนไปที่ – “ผัวก็อยากได้ ประชาธิปไตยก็อยากมี”

อ่านแล้วผมคิดอย่างไร?

ผมคิดถึงบทละครเรื่องสังข์ทองครับ 

ตอนเรียนชั้นประถมสมัยโน้น (๒๔๙๖-๒๔๙๙) ผมได้เรียนเรื่องสังข์ทอง-ตอนตีคลีด้วย

ผมเข้าใจว่าเด็กไทยสมัยนี้ไม่ได้เรียนและไม่รู้จักวรรณคดีไทยกันแล้ว

ต่อมา ได้อ่านเรื่องที่ผู้รู้ท่านเล่าถึงเบื้องหลังการแต่งเรื่องสังข์ทอง

บทละครเรื่องสังข์ทองเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

รัชกาลที่ ๒ รับสั่งให้กวีประจำราชสำนักช่วยกันติชม และบางตอนก็รับสั่งให้ช่วยกัน “ยกร่าง” มาให้ดูกันด้วย

เล่ากันว่า ตอนนางรจนาเลือกคู่ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระราชโอรส ต่อมาเป็นรัชกาลที่ ๓) ทรงยกร่างความตอนหนึ่งว่า –

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว

ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

(เป็นตอนที่ท้าวสามนต์ดำริถึงลูกสาวทั้ง ๗ นาง) 

เมื่อนำมาอ่านในที่ประชุมกวีเพื่อให้ติชมกัน สุนทรภู่ซึ่งเป็นกวีคนโปรดของรัชกาลที่ ๒ ได้ท้วงขึ้นว่า “ลูกแก้วปรารถนาอะไร?” เป็นทำนองว่าใช้คำไม่ชัดเจน

ถกกันไปถกกันมา รัชกาลที่ ๒ รับสั่งให้แก้เป็น 

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว

ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา”

ตรงนี้แหละที่เป็นแนวคิดสำคัญ

“ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา” ตามร่างเดิมมีนัยอย่างร?

ท่านชวนให้คิดว่า ธรรมดาธรรมชาติหญิงสาวเมื่อถึงวัยรุ่นวัยสาวปรารถนาอะไร สำหรับผู้รู้จักโลก แม้ไม่พูดตรงๆ ก็ย่อมจะเข้าใจได้ดี

อุปมาเป็นการแต่งเนื้อแต่งตัว “ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา” ก็เหมือนนุ่งซิ่น ห่มสไบ ใส่ต่างหู สวยสะอาด ชายเห็นก็ต้องมอง ต้องชื่นชม และต้อง–อะไรต่อมิอะไรต่อไปอีกหลายต้อง ไม่ต้องบอกว่าสาวเจ้าปรารถนาอะไร ให้การแต่งกายบอกเอง 

แนบเนียนและล้ำลึก

แต่ครั้นพอแก้ไขเป็น “ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา” ความแนบเนียนลึกล้ำก็ลดลง 

อุปมากับการแต่งเนื้อแต่งตัว “ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา” ก็เหมือนเปลี่ยนจากนุ่งซิ่นมานุ่งสั้น เปลื้องสไบ กลายเป็นเสื้อคอกว้างแย้มให้เห็นร่องอก …

ไม่ต้องพูดเองว่าปรารถนาอะไร แต่การแต่งกายมันบอก

ครั้นมาถึง – “ผัวก็อยากได้ ประชาธิปไตยก็อยากมี” – คราวนี้ชัดเลย 

อุปมากับการแต่งเนื้อแต่งตัวก็คือไม่ต้องแต่งอะไร – เปลือยล่อนจ้อนเดินกลางถนนกันเลย

ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่าปรารถนาอะไร 

………………

ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษา – 

“ปริญญาก็อยากได้ ประชาธิปไตยก็อยากมี” 

แบบนี้มีเหตุมีผลดีด้วย ตรงกับสถานภาพของตัวเองด้วย 

ทำไมจะพูดไม่ได้ แต่-ทำไมไม่พูด? 

ก็เพราะ-พูดแล้วมัน “มัน” ไม่ถึงใจ 

ผมเชื่อว่า หากยังจะมีการชุมนุมทางการเมืองกันอีกในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น การใช้ภาษาประดิษฐ์ของคนหนุ่มสาวในสมัยหน้าโน้นจะยิ่งโจ่งแจ้งแดงแจ๋กว่านี้อีกหลายเท่า

อุปมากับการแต่งเนื้อแต่งตัว จะไม่ใช่แค่เปลือยล่อนจ้อนเดินกลางถนน 

หากแต่จะถึงขั้น “เสพสมบ่มิสม” กันกลางถนนนั่นเลยทีเดียว

………………

ลองใช้สติพิจารณาเทียบเคียงกันดูนะครับ –

ตั้งแต่ “ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

มาจนถึง “ผัวก็อยากได้ ประชาธิปไตยก็อยากมี”

ภาษาประดิษฐ์ของไทยเรา งามขึ้นหรือว่าทรามขึ้น? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๕ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๓:๕๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *