ริษยา ไม่ได้มาจาก “อิจฉา” (บาลีวันละคำ 2,823)
ริษยา ไม่ได้มาจาก “อิจฉา”
ถ้าเช่นนั้นมาจากอะไร
ในภาษาไทยมีคำที่พูดกันว่า “อิจฉาริษยา” ในความหมายว่า “อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้”
“อิจฉา” เป็นรูปคำบาลี
“ริษยา” เป็นรูปคำสันสกฤต
เมื่อเราเอามาพูดควบกันว่า “อิจฉาริษยา” จึงทำให้บางคนเข้าใจไปว่า “อิจฉา” ในบาลีตรงกับ “ริษยา” ในสันสกฤต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า “ริษยา” ในสันสกฤตมาจาก “อิจฉา” ในบาลี
ที่เข้าใจอย่างนี้ โปรดทราบว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน
“อิจฉา” ในบาลีไม่ได้ตรงกับ “ริษยา” ในสันสกฤต
“ริษยา” ในสันสกฤตไม่ได้มาจาก “อิจฉา” ในบาลี
“อิจฉา” กับ “ริษยา” เป็นคนละคำกัน ความหมายก็ต่างกัน
“อิจฉา” เขียนแบบบาลีเป็น “อิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า อิด-ฉา รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = ปรารถนา, อยาก) + ณฺย ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้ลงในคำใด ทำให้คำนั้นเป็นภาวนามหรืออาการนาม มักขึ้นต้นคำแปลว่า “ความ-,” หรือ “การ-”), ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง ย กับ สฺ ที่สุดธาตุเป็น จฺฉ (อิสฺ + ย = อิสฺย > อิจฺฉ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิสฺ + ณฺย = อิสฺณฺย > อิสฺย > อิจฺฉ + อา = อิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่อยากได้” หรือ “ความอยากได้” หมายถึง ความปรารถนา, ความประสงค์, ความต้องการ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิจฺฉา” ว่า wish, longing, desire (ความปรารถนา, ความประสงค์, ความอยากได้)
ส่วน “ริษยา” เขียนแบบสันสกฤตเป็น “อีรฺษฺยา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อีรฺษา” “อีรฺษฺยา” และ “อีรฺษฺย” บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) อีรฺษา, อีรฺษฺยา : (คำนาม) ความฤษยา; envy.
(2) อีรฺษฺย : (คำนาม) ความฤษยา; ความผูกแค้นหรือมาดร้ายหมายขวัญ; envy; malice or spite; ค. มีความฤษยา; envious.
โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ:
อิจฺฉา = wish, longing, desire
อีรฺษา, อีรฺษฺยา = envy
อีรฺษฺย = envy; malice or spite; envious.
เป็นอันว่า “อิจฉา” กับ “ริษยา” มีความหมายต่างกัน เป็นคนละคำกัน และไม่ได้กลายรูปมาจากกันและกัน
ถ้าเช่นนั้น –
“อิจฉา” ในบาลี ตรงกับคำอะไรในสันสกฤต
“ริษยา” ในสันสกฤต ตรงกับคำอะไรในบาลี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “อิจฉา” บอกไว้ว่า –
“อิจฉา : (คำกริยา) เห็นเขาได้ดีแล้วไม่พอใจ อยากจะมีหรือเป็นอย่างเขาบ้าง (มีความหมายเบากว่า ริษยา). (ป., ส. อิจฺฉา ว่า ความอยาก, ความต้องการ, ความปรารถนา).”
“ป., ส. อิจฺฉา” ในวงเล็บหมายความว่า “อิจฉา” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อิจฺฉา” รูปคำตรงกับบาลี บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“อิจฺฉา : (คำนาม) ความปรารถนา, ความใคร่; wish, desire.”
โปรดดูคำแปลเป็นอังกฤษ:
“อิจฺฉา” บาลี = wish, longing, desire
“อิจฺฉา” สันสกฤต = wish, desire
“ริษยา” ในสันสกฤต ตรงกับคำอะไรในบาลี?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “ริษยา” บอกไว้ว่า –
“ริษยา : (คำกริยา) อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี, เห็นเขาได้ดีแล้วทนนิ่งอยู่ไม่ได้. (ส. อีรฺษฺยา; ป. อิสฺสา).”
“ส. อีรฺษฺยา; ป. อิสฺสา” ในวงเล็บหมายความว่า “ริษยา” ในภาษาไทยเป็น “อีรฺษฺยา” ในสันสกฤต และเป็น “อิสฺสา” ในบาลี
เป็นอันได้คำตอบว่า “ริษยา” (อีรฺษฺยา) ในสันสกฤต ตรงกับ “อิสฺสา” ในบาลี
“อิสฺสา” (มีจุดใต้ ส ตัวหน้า) อ่านว่า อิด-สา รากศัพท์มาจาก อิสฺสฺ (ธาตุ = ไม่พอใจ) + อ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อิสฺสฺ + อ = อิสฺส + อา = อิสฺสา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ไม่พอใจในความดีทั้งที่มีอยู่ของผู้อื่น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสฺสา” ว่า jealousy, anger, envy, ill-will (ความอิจฉา, ความโกรธเคือง, ความริษยา, เจตนาร้าย)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อิสสา” ในภาษาไทยไว้ว่า –
“อิสสา : (คำนาม) ความหึงหวง, ความชิงชัง. (ป.; ส. อีรฺษฺยา).”
โปรดดูคำแปลเป็นอังกฤษ:
“อิสฺสา” บาลี = jealousy, anger, envy, ill-will
“อีรฺษฺยา” สันสกฤต = envy; malice or spite
สรุปว่า –
บาลี “อิจฉา” สันสกฤตก็เป็น “อิจฉา”
สันสกฤต “ริษยา” บาลีเป็น “อิสสา”
“อิจฉา” ไม่ได้กลายรูปเป็น “ริษยา”
“ริษยา” ไม่ได้กลายรูปมาจาก “อิจฉา”
“อิจฉา” กับ “ริษยา” เป็นคนละคำกัน
“อิจฉา” ไม่ได้กลายรูปเป็น “อิสสา”
“อิสสา” ไม่ได้กลายรูปเป็น “อิจฉา”
“อิจฉา” กับ “อิสสา” เป็นคนละคำกัน
เวลาจะพูดว่า คำอะไรกลายรูปเป็นคำอะไร หรือคำอะไรกลายรูปมาจากคำอะไร ควรจับหลักให้ดี
ดูเพิ่มเติม:
“อิจฉา-ริษยา” บาลีวันละคำ (385) 3-6-56
“อิจฺฉา-อิสฺสา” บาลีวันละคำ (520) 17-10-56
“อิจฉา ไม่ได้เพี้ยนมาจาก “อิสสา” บาลีวันละคำ (2,391) 29-12-61
ปรารภ :
บาลีวันละคำเขียนคำว่า “อิจฉา” “ริษยา” และ “อิสสา” มาหลายครั้ง โดยปรารภคำว่า “อิจฉาริษยา” ที่นิยมพูดกันในภาษาไทย ทั้งนี้มิได้มีเจตนาจะให้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำว่า “อิจฉาริษยา” ให้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เพราะเราพูดกันอย่างนี้จนลงตัวถึงขนาดมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว เราก็ควรใช้อย่างนี้กันต่อไป
เพียงแต่ขอให้ช่วยกันทำความเข้าใจว่า คำไหนมีความหมายอย่างไร ในภาษาเดิมใช้ในความหมายอย่างไร เราเอามาใช้ในความหมายอย่างไร
เมื่อนำไปอ้างอิงว่าคำไหนเหมือนหรือต่างกับคำไหน คำไหนกลายรูปเป็นคำไหนหรือกลายรูปมาจากคำไหน ก็จะได้อ้างอิงอย่างถูกต้อง
เราห้ามใครๆ ไม่ให้เขียนผิด พูดผิด ใช้ผิด ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการหยิบยกคำหรือข้อธรรมบางคำบางข้อไปอธิบายผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนก็มี นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราห้ามไม่ได้ หรือห้ามได้ยากมาก
แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคำนั้นเรื่องนั้นจนกระทั่งรู้ประจักษ์ชัดว่าอย่างไรผิดอย่างไรถูก เมื่อเข้าใจถูกต้องแล้วก็จะช่วยให้เรามีท่าทีที่ถูกต้องต่อเรื่องนั้นๆ เช่นไม่รับเชื้อความเข้าใจผิดๆ มาไว้ในตัว หรือเผยแพร่เชื้อนั้นต่อไปยังผู้อื่นอีก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดเพี้ยนเขียนผิดเหมือนไวรัส
: ศึกษาให้เข้าใจชัดเหมือนหน้ากากอนามัย
#บาลีวันละคำ (2,823)
5-3-63