ลาสิกขาบท

บาลีวันละคำ

ลาสิกขาบท (บาลีวันละคำ 750)

ลาสิกขาบท
(คำที่วิปริต)
อ่านว่า ลา-สิก-ขา-บด
“สิกขาบท” บาลีเป็น “สิกฺขาปท” อ่านว่า สิก-ขา-ปะ-ทะ
ประกอบด้วย สิกฺขา + ปท
“สิกฺขา” มีรากศัพท์ คือ สิกฺข (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + อ ปัจจัย + อา (ปัจจัยศัพท์ให้เป็นอิตถีลิงค์)
: สิกฺข + อ + อา = สิกฺขา
“สิกฺขา” แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา” หมายถึง การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย (study, training, discipline)
ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป
“ศึกษา” ในความเข้าใจทั่วไป มักหมายความเพียงแค่ “เรียนวิชาความรู้”
แต่ “สิกฺขา” ในภาษาบาลีหมายถึง การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจและฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์
สำหรับบรรพชิต “สิกฺขา” หมายถึงระบบวิถีชีวิตทั้งชีวิต เช่น คฤหัสถ์บวชเป็นภิกษุ นั่นคือการเข้าสู่ระบบสิกขา คือใช้ชีวิตเยี่ยงบรรพชิตตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
“ปท” แปลว่า เท้า, รอยเท้า, ทาง, ตำแหน่ง, สถานที่, กรณี, หลักการ, ส่วนประกอบ (foot, footstep, track, position, place, case, principle, ingredient)
“ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท”
สิกฺขา + ปท = สิกฺขาปท > สิกขาบท

Read More