มหิดล (บาลีวันละคำ 1,573)
มหิดล
อ่านว่า มะ-หิ-ดน
ศัพท์ที่แยกได้คือ มหิ + ดล
(๑) “มหิ”
“มหิ” (มะ-หิ) ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหี” รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = นับถือ, บูชา; เจริญ) + อ ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มหฺ + อ = มห + อี = มหี แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่อันคนบูชา” (2) “ที่ที่เจริญขึ้น” (คือหนาขึ้นเรื่อยๆ หรือกว้างใหญ่)
(๒) “ดล”
บาลีเป็น “ตล” (ตะ-ละ) รากศัพท์มาจาก ตลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อ ปัจจัย
: ตลฺ + อ = ตล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งสิ่งของ”
เปิดพจนานุกรม :
(1) “มหี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า ศัพท์นี้แปลตามตัวว่า “Great One” (ผู้ยิ่งใหญ่) หมายถึง the earth (แผ่นดิน)
ในบาลี คำว่า “มหี” ยังเป็นชื่อแม่น้ำสำคัญ 1 ใน 5 สายในชมพูทวีป ที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี อันเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ชักแม่น้ำทั้งห้า”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีทั้ง “มหิ” และ “มหี” บอกไว้ดังนี้ –
(1) มหิ : (คำนาม) พสุธา; the earth.
(2) มหี : (คำนาม) พสุธา; โค; the earth; a cow.
ในภาษาไทยใช้เป็น “มหิ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหิ : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) แผ่นดิน. (ป., ส.).”
(2) “ตล”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลศัพท์นี้ว่า –
(๑) flat surface (w. ref. to either top or bottom), level, ground, base (พื้นราบ [จะเป็นข้างบนหรือข้างล่างก็ได้], ระดับ, พื้นฐาน)
(๒) the palm of the hand or the sole of the foot (ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ตล : (คำนาม) ‘ดล,’ สารภูตรูป; ความลึก, ความซึ้ง, ก้นบึ้ง, ตำแหน่งต่ำ; ป่า, อรัณย์; หลุม, บ่อ; การณ์, มูล, เหตุ; ฝ่าเท้า; แผ่น; สนับหนังซึ่งนายขมังธนูสรวมหัสต์เบื้องซ้าย; ด้ามกระบี่; เท้าหรือฐานภาชนะทั่วไป; ประโกษฐ์, ช่วงศอก; อวัยวะตอนตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ; กิษกุ, คืบ; essential nature; depth, bottom, interiority of position; a wood, a forest; a hole, a pit; cause, origin, motive; sole of the foot; a slap; a leathern fence worn by archers on the left arm; the hilt or handle of a sword; the stand or support of anything; the fore-arm; a span.”
“ตล” ในภาษาไทยใช้เป็น “ดล”
พจน.54 บอกไว้ว่า
“ดล ๑, ดล– : (คำนาม) พื้น, ชั้น, เช่น พสุธาดล. (ป., ส. ตล).”
มหี + ตล = มหีตล
คำนี้ครูบาลีในเมืองไทยแนะให้ออกเสียงว่า มะ-ฮี-ตะ-ละ แต่เวลาเขียนเป็นภาษาบาลี เช่นในพระคาถาชินบัญชรตรงคำว่า “วิหรนฺตํ มหีตเล” ต้องสะกด “มหีตเล” ไม่ใช่ “มฮีตเล” (มะฮีตะเล) เพราะในภาษาบาลีไม่มี ฮ นกฮูก
เสียงในภาษาไหน ก็ควรนึกถึงความหมายเฉพาะในภาษานั้น
“มหีตล” แปลตามศัพท์ว่า “พื้นแห่งแผ่นดิน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลศัพท์นี้ว่า the ground of the earth (พื้นแห่งแผ่นดิน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มหีตล, มหิตล : (คำนาม) พื้นพสุธา; the surface of the earth.”
“มหีตล” เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ใช้กฎ “รัสสะ อี เป็น อิ” คือทำเสียงสระ อี ให้สั้น (มหี > มหิ) จึงเป็น “มหิตล” ต เต่า ในบาลีแปลงเป็น ด เด็ก จึงเขียนแบบไทยว่า “มหิดล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหิดล : (คำนาม) พื้นดิน, พื้นโลก. (ส. มหิตล, มหีตล).”
…………..
คำว่า “มหิดล” เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย สิ้นพระชนม์ (*) เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วันที่ 24 กันยายน เป็น “วันมหิดล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494
…………
24 กันยายน วันมหิดล : วันแห่งแผ่นดิน
…………
: แผ่นดินไม่ทำลายใคร
: ถ้าไม่มีใครไปทำลายแผ่นดิน
——————
หมายเหตุ : สิ้นพระชนม์ (*) คำกริยาควรใช้อย่างไรถูก? บางแห่งใช้ว่า “สวรรคต” บางแห่งใช้ว่า “ทิวงคต” ขอแรงญาติมิตรที่ทราบเรื่องนี้โปรดเข้ามาช่วยกันบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน
24-9-59