บาลีวันละคำ

พฤกษภผกาสร (บาลีวันละคำ 2,917)

พฤกษภผกาสร

ภาษาเขียนที่เพี้ยนมาจากภาษาเสียง

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง แจ้งข่าวการถึงแก่กรรมของญาติ และยกบทประพันธ์มาปิดท้าย

ข้อความในบทประพันธ์สะกดดังนี้ –

…………..

พฤกษภผกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนเสน่ห์คง สำคัญหมายในกายมี

นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรี

สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา.

…………..

พอดีว่าบทประพันธ์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จึงทำให้เห็นคำที่สะกดผิดได้ง่าย แต่กระนั้นก็ยังควรแก่การที่จะทำความเข้าใจให้เห็นชัดว่าผิดอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ

(๑) “พฤกษภผกาสร

โปรดสังเกตว่าในที่นี้สะกดเป็น “พฤกษ” แบบเดียวกับ “พฤกษ” หรือ “พฤกษา” ที่แปลว่า ต้นไม้ ซ้ำมีคำว่า “ผกา” ที่แปลว่า ดอกไม้ อีกด้วย จึงชวนให้เข้าใจว่าเป็นคำคู่กันที่ถูกต้อง

คำที่ถูกต้องคือ “พฤษภกาสร” ประกอบด้วย พฤษภ + กาสร

พฤษภ” เป็นรูปคำสันสกฤต คำนี้บาลีเป็น “อุสภ” (อุ-สะ-พะ)

อุสภ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ทำให้ศัตรูเร่าร้อน” หมายถึง โคตัวผู้ (a bull) ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องหมายของความเป็นเพศผู้และพละกำลัง = คนที่แข็งแรงมาก เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่ต่อสู้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พฤษภ : (คำนาม) วัว; ชื่อกลุ่มดาวรูปวัวเรียกว่า ราศีพฤษภ เป็นราศีที่ ๑ ในจักรราศี. (ส.วฺฤษฺภ; ป. อุสภ).”

พฤษภ” ถ้าอยู่คำเดียว อ่านว่า พฺรึ-สบ หรือ พฺรึด-สบ ก็ได้ (ตาม พจน.54)

แต่ในคำประพันธ์นี้มีคำว่า “กาสร” มาต่อท้ายเป็น “พฤษภกาสร” จึงต้องอ่านตามหลักฉันทลักษณ์ว่า พฺรึด-สบ-พะ-กา-สอน คือออกเสียง พะ ที่ –– ด้วย (ไม่ใช่ พฺรึด-สบ-กา-สอน)

กาสร” แปลว่า “ควาย” คำนี้เป็นภาษาสันสกฤต (ยังไม่พบในภาษาบาลี)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กาสร : (คำนาม) ‘กาสร’, ‘ผู้เที่ยวไปหาน้ำบ่อยๆ’, มหิษ, กระบือ, ควาย (ปราณินจำพวกนี้ชอบที่ลุ่มน้ำ); ‘who frequents water’, a buffalo (this animal being partial to marshy places).”

(๒) “โททนเสน่ห์คง

เป็นการสะกดตามใจ คือตามที่เข้าใจเองเองโดยแท้

คำที่ถูกต้องคือ “โททนต์เสน่งคง

ทนต์” ไม่ใช่ “ทน

เสน่ง” ไม่ใช่ “เสน่ห์

ทนต์” บาลีเป็น “ทนฺต” อ่านว่า ทัน-ตะ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องตัดอาหาร” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องกินอาหาร” (3) “อวัยวะที่ข่ม” (คือขบกัด) หมายถึง ฟัน, งาช้าง, เขี้ยว (a tooth, a tusk, fang)

โท” แปลว่า สอง (จำนวน 2) “โททนต์” จึงแปลว่า งาทั้งสอง หรืองาทั้งคู่

เสน่ง” คำนี้อ่านว่า สะ-เหฺน่ง คนทั่วไปไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร เสียง สะ-เหฺน่ง ก็ไม่เคยได้ยิน แต่ “เสน่ห์” เคยได้ยิน “เสน่ง” จึงกลายเป็น “เสน่ห์” ไปตามที่คิดเอาเอง

เสน่ง” เป็นคำเขมร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า ไว้ว่า –

เสนง, เสน่ง [สะเหฺนง, สะเหฺน่ง] : (คำนาม) เขาสัตว์, เขนง, แสนง ก็ใช้. (ข.).”

(๓) “อินทรี” สะกดอย่างนี้หมายถึง นกอินทรี ถ้าหมายถึง ร่างกาย ต้องสะกดเป็น “อินทรีย์

อินทรีย์” บาลีเขียน “อินฺทฺริย” มีจุดใต้ ทฺ ด้วย ถ้าเขียนเป็นบาลีไทยหรือบาลีแบบคำอ่าน นิยมใส่เครื่องหมายบน ท เป็น ท๎ = อินท๎ริยะ

คำอ่านไม่ใช่ อิน-ทะ-ริ-ยะ หรือ อิน-ซิ-ยะ แต่เป็น อิน-ทฺริ-ยะ หรือ อิน-เทฺรียะ (-เทฺรียะ เทียบเสียงเหมือนคำว่า ตึง-เปรี๊ยะ)

ถ้าเป็น อินฺทฺริยัง = อินท๎ริยัง อ่านว่า อิน-เทฺรียง จะได้เสียงที่ถูกต้อง

อินฺทฺริย” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความแข็งแรง, อำนาจ (strength, might), ปกครอง, ครอบครอง (governing, ruling), การคุ้มครอง, หลักการบริหาร (governing, ruling or controlling principle)

อินฺทฺริย ภาษาไทยใช้ว่า “อินทรีย์” อ่านว่า อิน-ซี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อินทรีย์” ไว้ดังนี้ –

(1) ร่างกายและจิตใจ เช่น สํารวมอินทรีย์

(2) สติปัญญา เช่น อินทรีย์แก่กล้า

(3) สิ่งมีชีวิต

ในคำประพันธ์นี้ “อินทรีย์” หมายถึง ร่างกาย

(๔) “สถิตย์” สะกดผิดจนเป็นสามัญ คำนี้สะกด “สถิต” ไม่ต้องมี ย์

สถิต” อ่านว่า สะ-ถิด เป็นรูปคำสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถิต : (คำวิเศษณ์) อันไม่เคลื่อนที่, อันอยู่หรือหยุดแล้ว; อันตั้งใจแล้ว; ตรงหรือสัตย์ซื่อ; สาธุหรือธารมิก; อันได้ตกลงแล้ว; immovable or steady; stayed or stopped; determined or resolved; upright, virtuous; agreed.”

สถิต” บาลีเป็น “ฐิต” (ถิ-ตะ) เป็นคำกริยาและใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ยืนอยู่, ยืนตรง (standing, upright), ไม่เคลื่อนไหว, ดำรงอยู่ (immovable, being), ชั่วกาลนาน, คงทน (lasting, enduring), มั่นคง, แน่นอน, ควบคุมได้ (steadfast, firm, controlled)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

สถิต : (คำกริยา) อยู่, ยืนอยู่, ตั้งอยู่, (ใช้เป็นคํายกย่องแก่สิ่งหรือบุคคลที่อยู่ในฐานะสูง) เช่น พระเจ้าสถิตบนสวรรค์ พระมหากษัตริย์สถิตบนพระที่นั่ง สมเด็จพระสังฆราชสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร. (ส. สฺถิต; ป. ฐิต).”

จะเห็นได้ว่า “สถิต” หรือ “ฐิต” คำเดิมไม่มี ดังนั้นในภาษาไทยจึงสะกดว่า “สถิต” ไม่ใช่ “สถิตย์

…………..

“พฤษภกาสร” ที่นิยมนำไปอ้างกันนั้นมาจากกวีนิพนธ์จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เขียนตามอักขรวิธีในปัจจุบัน :

๏ พฤษภกาสร……..อีกกุญชรอันปลดปลง

โททนต์เสน่งคง……สำคัญมายในกายมี

๏ นรชาติวางวาย…..มลายสิ้นทั้งอินทรีย์

สถิตทั่วแต่ชั่วดี…….ประดับไว้ในโลกา๚ะ๛

คำอ่าน :

พฺรึด-สบ-พะ-กา-สอน / อีก-กุน-ชอน-อัน-ปฺลด-ปฺลง

โท-ทน-สะ-เหฺน่ง-คง / สำ-คัน-หฺมาย-ใน-กาย-มี

นอ-ระ-ชาด-ติ-วาง-วาย / ม-ลาย-สิ้น-ทั้ง-อิน-ซี

สะ-ถิด-ทั่ว-แต่-ชั่ว-ดี / ปฺระ-ดับ-ไว้-ใน-โล-กา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ยังมีเจ้าหน้าที่คอยกวาดถนน

: เขียนผิดวิปริตพิกล ควรฤๅจะปล่อยไปตามบุญตามกรรม

#บาลีวันละคำ (2,917)

7-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *