บาลีวันละคำ

ปฏิสันถารคารวะ (บาลีวันละคำ 2,918)

ปฏิสันถารคารวะ

เพชรที่ถูกมองข้าม

อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ถา-ระ-คา-ระ-วะ

ประกอบด้วยคำว่า ปฏิสันถาร + คารวะ

(๑) “ปฏิสันถาร

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิสนฺถาร” อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ถา-ระ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ทั้งหมด) + ถรฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ปูลาด, ปกปิด) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ (สํ > สนฺ), ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ถรฺ > ถาร)

: ปฏิ + สํ + ถรฺ = ปฏิสํถรฺ + = ปฏิสํถรณ > ปฏิสํถร > ปฏิสนฺถร > ปฏิสนฺถาร แปลตามศัพท์ว่า “การปกปิดอาการที่ไม่สมควรไว้อย่างมิดชิด” หมายความว่า เมื่อต้องพบปะกับเพื่อนมนุษย์ก็เก็บกิริยาอาการความรู้สึกที่ไม่ชอบไม่พอใจที่อาจจะมีไว้ให้มิดชิด แสดงออกแต่อาการที่ดี

ปฏิสนฺถาร” (ปุงลิงค์) หมายถึง การต้อนรับฉันเพื่อน, การต้อนรับอย่างกรุณา, การให้เกียรติ, ไมตรีจิต, การสงเคราะห์, มิตรภาพ (friendly welcome, kind reception, honour, goodwill, favour, friendship)

ปฏิสนฺถาร” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ปฏิสันถาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิสันถาร : (คำนาม) การทักทายปราศรัยแขกผู้มาหา (มักใช้แก่ผู้น้อย); การต้อนรับแขก. (ป. ปฏิสนฺถาร).”

เรามักเข้าใจกันแคบๆ ว่า ปฏิสันถารมีความหมายเพียงแค่การทักทายปราศรัย แต่ปฏิสันถารมีความหมายมากกว่านั้น

ในคัมภีร์อธิบายว่า ปฏิสันถารมี 2 อย่าง คือ –

(1) อามิสปฏิสันถาร (อา-มิด-สะ-) การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น น้ำดื่ม อาหาร ของขบเคี้ยวบริโภค เป็นต้น

(2) ธรรมปฏิสันถาร (ทำ-มะ-) การต้อนรับด้วยธรรม คือกล่าวธรรมให้ฟังหรือแนะนำในทางธรรม อย่างนี้เป็นธรรมปฏิสันถารแบบธรรมดา ธรรมปฏิสันถารอย่างบริบูรณ์ คือ เอาใจใส่ช่วยเหลือสงเคราะห์ แก้ไขปัญหา บรรเทาข้อสงสัย ขจัดปัดเป่าข้อติดขัดยากลำบากเดือดร้อนทั้งหลาย ให้ผู้มาหาลุล่วงกิจอันเป็นกุศล พ้นความอึดอัดขัดข้อง

(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)

(๒) “คารวะ

เขียนแบบบาลีเป็น “คารว” อ่านว่า คา-ระ-วะ รากศัพท์มาจาก ครุ + ปัจจัย

(ก) “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

(2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง –

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

(ข) ครุ + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ (ค)-รุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ครุ > คโร > ครว), ทีฆะ อะ ที่ต้นศัพท์ คือ -(รว) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (ครว > คารว)

: ครุ + = ครุณ > ครุ > คโร > ครว > คารว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งครุ” หมายถึง การคารวะ, ความเคารพ, ความนับถือ (reverence, respect, esteem); ความยำเกรง, ความนอบน้อม (respect for, reverence towards)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คารวะ : (คำนาม) ความเคารพ, ความนับถือ. (คำกริยา) แสดงความเคารพ. (ป.).”

คารวะ” ท่านจัดเป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคล 38 ประการ อันเป็นคุณธรรมที่ยังผู้ประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงความสุขความเจริญก้าวหน้า

ปฏิสนฺถาร + คารว = ปฏิสนฺถารคารว (ปะ-ติ-สัน-ถา-ระ-คา-ระ-วะ) เขียนแบบไทยเป็น “ปฏิสันถารคารวะ” แปลว่า “การเคารพในปฏิสันถาร” หมายถึง การให้ความสำคัญแก่การต้อนรับผู้มาหามาเยือน หรือเห็นว่าการต้อนรับผู้มาหามาเยือนเป็นเรื่องสำคัญอันจะละเลยเสียมิได้

ขยายความ :

คารวะ” ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎก (คัมภีร์ปริวาร พระวินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม 8 ข้อ 850, อปริหานิยสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 303) ชุดหนึ่งว่ามี 6 อย่าง

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [261] แสดงไว้ดังนี้ –

…………..

คารวะ หรือ คารวตา 6 ความเคารพ, การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง, การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ (Gārava, Gāravatā: reverence; esteem; attention; respect; appreciative action)

1. สัตถุคารวตา ความเคารพในพระศาสดา (reverence for the Master) ข้อนี้บางแห่งเขียนเป็น พุทธคารวตา (ความเคารพในพระพุทธเจ้า (Satthu-gāravatā: reverence for the Buddha)

2. ธัมมคารวตา ความเคารพในธรรม (Dhamma-gāravatā: reverence for the Dhamma)

3. สังฆคารวตา ความเคารพในสงฆ์ (Saŋgha-gāravatā: reverence for the Order)

4. สิกขาคารวตา ความเคารพในการศึกษา (Sikkhā-gāravatā: reverence for the Training)

5. อัปปมาทคารวตา ความเคารพในความไม่ประมาท (Appamāda-gāravatā: reverence for earnestness)

6. ปฏิสันถารคารวตา ความเคารพในปฏิสันถาร คือ การต้อนรับปราศรัย (Paṭisanthāra-gāravatā: reverence for hospitality)

ธรรม 6 อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ.

…………..

ปฏิสันถาร” ท่านจัดเข้าเป็น 1 ในสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญ 6 อย่าง

3 อย่างคือพระรัตนตรัย

อีก 2 อย่างคือ “สิกขา” และ “อัปปมาท” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ “อัปปมาท” (ความไม่ประมาท) เป็นสุดยอดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา

ทำไมท่านจึงจัด “ปฏิสันถาร” ว่าเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเทียบเท่ากับพระรัตนตรัย เทียบเท่ากับการศึกษา เทียบเท่ากับความไม่ประมาท เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างลึกซึ้ง

ลองนึกดูง่ายๆ เราให้ความสำคัญแก่พระรัตนตรัยเพียงใด ก็ต้องให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” เพียงนั้น ใช่หรือไม่

แต่ในความรู้สึกของชาวเราและที่ปฏิบัติกันทั่วไป เราเคยให้ความสำคัญแก่ “ปฏิสันถาร” มากเท่ากับพระรัตนตรัยหรือไม่ เราเห็นความสำคัญของ “ปฏิสันถาร” มากถึงขนาดนั้นหรือไม่

ถ้าเทียบกับพระรัตนตรัย เทียบกับการศึกษา เทียบกับความไม่ประมาทแล้ว แทบจะไม่มีใครนึก “ปฏิสันถาร” กันเลยด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่

ทำไมเรามองข้าม “เพชร” ที่สำคัญที่สุดกันได้ถึงขนาดนี้?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การต้อนรับที่ไม่จริงใจ

: คือการค้ากำไรจากการขายของปลอม

#บาลีวันละคำ (2,918)

8-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *