ต่อหน้า – ลับหลัง (บาลีวันละคำ 2,916)
ต่อหน้า – ลับหลัง
บาลีว่าอย่างไร
นักเรียนบาลีถูกถามว่า คำว่า “ต่อหน้า” (เช่นในคำว่า “ต่อหน้าสรรเสริญ”) คำบาลีว่าอย่างไร คำว่า “ลับหลัง” (เช่นในคำว่า “ลับหลังนินทา”) คำบาลีว่าอย่างไร
หรือในคำที่ว่า “ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง” (ต่อหน้าทำหรือพูดอย่างหนึ่ง ลับหลังทำหรือพูดอีกอย่างหนึ่ง) “ต่อหน้า – ลับหลัง” เช่นนี้คำบาลีว่าอย่างไร
ถ้าทิ้งบาลีไปนาน อาจจะอึกอักไปพักหนึ่ง แต่คงไม่ถึงกับลืมหรือสัญญาดับไปเลย นึกดีๆ ก็จะจำได้
“ต่อหน้า” ในความหมายดังกล่าวนั้น คำบาลีว่า “สมฺมุขา” คำที่ตรงกันข้ามคือ “ลับหลัง” คำบาลีว่า “ปรมฺมุขา”
คำหลักคือ “มุข”
“มุข” บาลีอ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + อ ปัจจัย
: มุขฺ + อ = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข”
(2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ข ปัจจัย
: มุ + ข = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก”
“มุข” (นปุงสกลิงค์) หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ ปาก (the mouth) และ หน้า (the face) จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท
ในที่นี้ “มุข” หมายถึง หน้า (the face)
(๑) “สมฺมุขา” อ่านว่า สำ-มุ-ขา ประกอบด้วย สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + มุข, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)
: สํ + มุข = สํมุข > สมฺมุข แปลตามศัพท์ว่า “มีหน้าพร้อม” หมายถึง ต่อหน้า, อยู่ต่อหน้า (face to face with, in presence)
(๒) “ปรมฺมุขา” อ่านว่า ปะ-รำ-มุ-ขา ประกอบด้วย ปรํ + มุข, แปลงนิคหิตที่ (ป)-รํ เป็น มฺ (ปรํ > ปรมฺ)
“ปรํ” (ปะ-รัง) ใช้ในฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์ (adverb) แปลว่า ต่อไป, ห่างไปจาก (further, away from) ใช้ในฐานะเป็นบุรพบท (preposition) แปลว่า หลังจาก, นอกจาก (after, beyond)
เช่นในคำว่า “อิโต ปรํ” ซึ่งนิยมแปลว่า “เบื้องหน้าแต่นี้” หมายถึง จากนี้หรือจากที่นี่, หลังจากนี้, ต่อไปจากนี้ (from here, after this, further)
: ปรํ + มุข = ปรํมุข > ปรมฺมุข แปลตามศัพท์ว่า “มีหน้าหันไปทางอื่น” (with face turned away) หมายถึง ลับหลัง (in one’s absence)
“สมฺมุข” “ปรมฺมุข” ดำเนินกรรมวิธีทางไวยากรณ์เพื่อให้เป็นกริยาวิเศษณ์ จึงเป็น “สมฺมุขา” “ปรมฺมุขา”
“สมฺมุขา” = ต่อหน้า
“ปรมฺมุขา” = ลับหลัง
…………..
บาลีเรียนไม่ยาก ถ้าไม่ได้เรียนหลักไวยากรณ์มาตั้งแต่ต้น ก็ใช้วิธีจำเอาเป็นคำๆ อาจรู้ไม่ลึก ไม่แน่น แต่ถ้าจำได้มาก ก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยทีเดียว
ในอดีตสมัย ปู่ย่าตายายของเราเป็นจำนวนมากที่อ่านหนังสือไม่ออก แต่สามารถจำบทสวดมนต์ได้เป็นเล่มๆ ขยันสวดมนต์มากกว่าคนที่อ่านออกเขียนได้เสียอีก
พระอรหันต์ท่านรักษาพระศาสนาสืบมาจนถึงเราทุกวันนี้ก็ด้วยอาศัยกำลังแห่งความจำ
โปรดอย่าดูหมิ่นวิธีท่องจำว่า-ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง อย่างคำปรามาสของนักการศึกษาสมัยใหม่บางสำนัก
ท่องจำ ไม่ได้แปลว่าคิดอะไรเองไม่เป็น แต่แปลว่า-มีข้อมูลสำหรับใช้เป็นฐานแห่งการคิดได้มากกว่าคนที่ไม่ได้จำอะไรไว้เลย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ต่อหน้าปฏิบัติชอบ ลับหลังปฏิบัติดี
: แม้ไม่ได้เรียนบาลีก็รักษาพระศาสนาไว้ได้
————–
(หยิบคำไทยมาจากโพสต์ของพระคุณท่าน Phornpawit Uppachai กราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้)
#บาลีวันละคำ (2,916)
6-6-63