บาลีวันละคำ

ไวพจน์ (บาลีวันละคำ 3,324)

ไวพจน์

คุ้นตาคุ้นหู แต่อาจจะยังไม่รู้ความหมาย

อ่านว่า ไว-พด

ไวพจน์” ตรงกับคำบาลีว่า “เววจน” (เว-วะ-จะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วิ + วจน

(๑) “วิ” 

เป็นคำจำพวก “อุปสรรค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำ “อุปสรรค” ไว้ดังนี้ – 

อุปสรรค : (คำนาม) คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น – 

วัฒน์ = เจริญ 

อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง 

ปักษ์ = ฝ่าย 

ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.

ตามตัวอย่างนี้ 

อภิ + วัฒน์ = อภิวัฒน์ 

ปฏิ + ปักษ์ = ปฏิปักษ์ 

อภิ” และ “ปฏิ” คือคำอุปสรรค

ในที่นี้ วิ + วจน “วิ” คือคำอุปสรรค

ความหมายของ “วิ” นักเรียนบาลีท่องจำว่า “วิ : วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

(๒) “วจน” 

อ่านว่า วะ-จะ-นะ รากศัพท์มาจาก วจ (ธาตุ = พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วจฺ + ยุ > อน = วจน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” “คำเป็นเครื่องพูด

วจน” ในบาลีหมายถึง –

(1) คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก (speaking, utterance, word, bidding)

(2) วิธีแสดงออกซึ่งคำพูด, พจน์, การแสดงออก (way of speech, term, expression)

บาลี “วจน” ภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม จึงเป็น “พจน” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “พจน-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า พด-จะ-นะ- และ “พจน์” (การันต์ที่ ) อ่านว่า พด บอกไว้ว่า –

พจน-, พจน์ ๑ : (คำนาม) คําพูด, ถ้อยคํา. (ป. วจน).”

วิ + วจน, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว)

: วิ + วจน = วิวจน > เววจน (เว-วะ-จะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องกล่าวแทนเนื้อความอันเดียวหลายหน” 

เววจน” มีความหมายว่าอย่างไร ท่านแสดง “รูปวิเคราะห์” (สูตรกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ไว้ว่า “เอโก อตฺโถ ปุนปฺปุนํ วุจฺจติ อเนนาติ เววจนํ” 

(1) เอโก อตฺโถ = ความหมายอย่างเดียวกัน

(2) ปุนปฺปุนํ วุจฺจติ อเนน = ใช้คำเรียกได้หลายคำ

(3) อิติ เววจนํ = ดังนี้ชื่อว่า “เววจน”

(4) เววจน = คำเป็นเครื่องกล่าวแทนเนื้อความอันเดียวหลายหน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เววจน” ดังนี้ – 

(1) attribute, epithet (คุณลักษณะ, คำแสดงลักษณะ) 

(2) synonym (ไวพจน์)

บาลี “เววจน” ภาษาไทยใช้เป็น “ไวพจน์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ไวพจน์ : (คำนาม) คําที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น มนุษย์กับคน บ้านกับเรือน รอกับคอย ป่ากับดง, คําพ้องความ ก็ว่า, (ป. เววจน); (คำโบราณ) ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) หมายถึง คําที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น ใสกับไส โจทก์กับโจทย์ พานกับพาล, ปัจจุบันเรียกว่า คําพ้องเสียง.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามเป็นดังนี้ – 

ไวพจน์ : (คำนาม) คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกันหรือใกล้เคียงกันมาก เช่น มนุษย์กับคน โคกับวัว บ้านกับเรือน รอกับคอย ป่ากับดง, คำพ้องความ ก็ว่า, (ป. เววจน); (คำโบราณ) (คำนาม) ในหนังสือแบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) หมายถึง คำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น ใส-ไส-ไสย กาน-กาล-การ-การณ์, ปัจจุบันเรียกว่า คำพ้องเสียง.”

…………..

เด็กไทยเรียนภาษาไทย ครูเคยสอนเรื่อง “คำพ้อง” ว่ามี 2 อย่าง คือ 

๑ “คำพ้องรูป” คือคำที่เขียนเหมือนกัน แต่อ่านต่างกัน ความหมายต่างกัน เช่น – 

“เพลา” อ่านว่า เพ-ลา หมายถึง เวลา คือกาล, คราว

“เพลา” อ่านว่า เพฺลา (พฺล + สระเอา, ความจริง “สระเอา” ไม่มี แต่เรียกให้เข้าใจง่าย) หมายถึง แกนสําหรับสอดในดุมรถหรือดุมเกวียน

๒ “คำพ้องเสียง” คือคำที่เขียนต่างกัน แต่อ่านเหมือนกัน ความหมายต่างกัน เช่น – 

กาน = ตัดเพื่อให้แตกใหม่

กานท์ = บทกลอน

การ = งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา

กาล = เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาญจน์ = ทอง

กาฬ = ดำ

ตอนนี้มี “คำพ้อง” เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ “คำพ้องความ” คือคำที่เขียนต่างกัน (เป็นคนละคำกัน) แต่หมายถึงสิ่งเดียวกัน เช่น บุปผา บุษบา มาลี มาลัย หมายถึง ดอกไม้ 

“คำพ้องความ” ดังกล่าวนี้เดิมเรียกว่า “ไวพจน์” หรือ “คำไวพจน์

เรารู้จัก “ไวพจน์” พูดคำว่า “ไวพจน์” เขียนคำว่า “ไวพจน์” กันได้โดยทั่วไป คราวนี้ก็ได้รู้แล้วว่า “ไวพจน์” มีรากศัพท์เป็นมาอย่างไร และมีความหมายอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วิธีทำบุญบอกกันได้

: แต่ทำบุญแทนกันไม่ได้

#บาลีวันละคำ (3,324)

19-7-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *