บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพิพากษาข้ามเวลา

คำพิพากษาข้ามเวลา

——————–

เป็นการยุติธรรมหรือไม่ที่คนสมัยใหม่เอาค่านิยมในยุคสมัยปัจจุบันไปตัดสินค่านิยมของคนในยุคก่อนสมัยก่อน 

เช่นบอกว่า การที่คนสมัยก่อนคิดอย่างนั้น เป็นคนใจดำ

การที่คนสมัยก่อนทำอย่างนั้น เป็นคนคร่ำครึ

… เป็นคนคับแคบ

… เป็นคนใจแคบ

… เป็นคนงมงาย

… เป็นคนหัวอ่อน

… เป็นคนบ้าอำนาจ

… เป็นคนโง่

ฯลฯ

ตัวอย่างชัดๆ เช่น-สมัยก่อน พ่อแม่เลือกคู่ให้ลูก เป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง

หนุ่มสาวสมัยนี้ตำหนิติเตียนระบบที่พ่อแม่หาคู่ครองให้ลูกว่าเป็นระบบคลุมถุงชน กดขี่ลูก พร้อมทั้งประกาศเหตุผลว่า พ่อแม่ไม่ได้เป็นคนอยู่กับเขา แต่ฉันเป็นคนอยู่กับเขา เพราะฉะนั้น ฉันเลือกของฉันเอง พ่อแม่ไม่ต้องมายุ่ง

สมัยนี้ พ่อแม่เลือกคู่ให้ลูกเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง

ลูกเลือกคู่เองเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง

คู่ครองที่เลือกเองสมัยนี้ปรากฏว่าหย่าร้างกันชุกชุมมาก จนกำลังจะกลายเป็นค่านิยมใหม่-แต่งแล้วไม่หย่าถือว่าผิดปกติ

ต่อไปจะเกิดค่านิยมใหม่ขึ้นไปอีก-หย่าบ่อยๆ ดี มีประสบการณ์!

และในที่สุดชายหญิงจะสมสู่กันชั่วคราวไม่ต่างอะไรกับสัตว์แทบทุกชนิด 

แต่แย่กว่าสัตว์บางชนิดที่จับคู่ครั้งเดียวตลอดชีวิต

ตัวอย่างในวงวัดๆ เช่น ประมาณ ๗๐-๘๐ ปีที่ผ่านมานี้ พระเณรต่างจังหวัดเข้าไปหาวัดอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ยากมาก เจ้าอาวาสมักไม่รับ อ้างว่ากุฏิเต็ม

พระเณรสมัยใหม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด แล้วตัดสินว่าเจ้าอาวาสใจดำ

พระเณรในกรุงเทพฯ จะไปเรียน มจร มมร เจ้าอาวาสมักไม่ยอม ไม่เต็มใจ แม้ยอมก็ตั้งเงื่อนไขเข้มงวด

พระเณรสมัยใหม่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด แล้วตัดสินว่าเจ้าอาวาสใจแคบ วิสัยทัศน์แคบ

………………..

ผมอ่านหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งแต่อายุ ๒๐ กว่าๆ อ่านแล้วก็รู้สึกแปลกๆ ที่ผู้เขียนตำหนิติเตียนระบบศักดินาอย่างรุนแรงเหมือนกับเป็นสิ่งที่เลวทรามต่ำช้า วาดภาพว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยสมัยเก่ากดขี่ข่มเหงไพร่ฟ้าประชาชนเยี่ยงทาส-ราวกับว่าผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นและได้ถูกกดขี่มาด้วยตนเองจึงเอามาเล่าได้ถูกต้อง 

………………..

สิ่งหนึ่งที่เราแทบจะไม่ได้นึกถึงก็คือ สภาพแวดล้อมของยุคสมัยโน้นเป็นอย่างไร ค่านิยมที่เกิดตามยุคตามสมัยเป็นอย่างไร แม้จะนึกถึงบ้างก็เป็นเพียงสันนิษฐานตามหลักฐานเท่าที่เรามองเห็น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่รู้แน่ เราตัดสินคนยุคโน้นอย่างเด็ดขาดบนข้อมูลที่ไม่รู้แน่ ได้แต่สันนิษฐานเอา แล้วเราก็เชื่อว่าข้อสันนิษฐานของเราถูกต้อง เป็นความจริง

………………..

ตัวอย่างการตัดสินข้ามกาลเวลาเรื่องหนึ่งคือ หญิงคนหนึ่งยกที่ดินถวายวัด ทำพิธีถวายโฉนดให้สงฆ์ พระสงฆ์รับมอบโฉนด เจริญชัยมงคลคาถา ชาวบ้านร่วมอนุโมทนากันคับคั่ง

การถวายที่ดินให้วัดสำเร็จแล้วตามเจตนาของผู้ถวาย 

แต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนให้วัดตามกฎหมายที่กำหนดขึ้นใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคำนึงถึง

พอแม่ตาย ลูกเป็นผู้รับมรดก ขอโฉนดคืน อ้างว่าที่ดินเป็นมรดกตกแก่ตน ศาลตัดสินให้ที่ดินตกเป็นของลูกผู้รับมรดก เหตุผลมีประการเดียวคือที่ดินไม่ได้จดทะเบียนโอนให้วัด 

ข้อเท็จจริงคือเจ้าของที่ดินในขณะมีชีวิตอยู่ถวายที่ดินให้วัดแล้ว ทำพิธีถวายเรียบร้อยแล้ว ที่ดินตกเป็นของสงฆ์แล้วตามเจตนา ณ ขณะนั้น

แต่กฎหมายบอกว่าที่ดินยังเป็นมรดกอยู่เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้วัด 

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่กฎหมายตัดสินเป็นอีกอย่างหนึ่ง หักล้างข้อเท็จจริง 

นี่คือความบกพร่องของกฎหมาย คือไปกำหนดหลักกฎหมายให้แย้งกับข้อเท็จจริง

………………..

นี่เป็นเรื่องเทียบเคียงที่ยกมาเพื่อชวนให้คิดว่า การที่เราซึ่งอยู่ในยุคสมัยหนึ่งไปตัดสินข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วในอีกยุคสมัยหนึ่งตามความเห็นตามค่านิยมที่ถูกกำหนดขึ้นตามยุคสมัยของเรานั้น เป็นความยุติธรรมแล้วหรือ

สิ่งที่ควรทำก็คือ ศึกษาให้รู้ชัดว่ายุคนั้นสมัยนั้นเขานิยมทำกันอย่างนั้นๆ ตามเหตุผล ตามค่านิยม ตามสิ่งแวดล้อมแบบนั้นๆ (เช่นว่าพ่อแม่สมัยก่อนหาคู่ครองให้ลูกเพราะเหตุผลอย่างนี้ๆ ลูกสมัยนี้หาคู่ครองกันเองเพราะเหตุผลอย่างนี้ๆ เป็นต้น) แล้วกำหนดไว้เป็นหลักฐานหรือเป็นหลักความรู้ แต่การกระทำนั้นๆ ตามค่านิยมนั้นๆ จะดีจะเลวจะโง่จะฉลาด ฯลฯ เราก็แยกไว้เป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ไปตัดสินอะไรเขา

ถ้าเราตัดสินว่าคนสมัยก่อนโง่+เลว

คนสมัยหน้าก็ตัดสินว่าคนสมัยเราโง่+เลวได้เช่นกัน

แล้วเราได้อะไรขึ้นมา นอกจากความสะใจที่ได้ดูถูกกัน-ซึ่งก็คือดูถูกบรรพบุรุษของตัวเอง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๗:๓๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *