ธรณีสูบ (บาลีวันละคำ 3,015)
ธรณีสูบ
ภาษาบาลีว่าอย่างไร
อ่านว่า ทอ-ระ-นี-สูบ
“ธรณี” เป็นภาษาบาลี “สูบ” เป็นภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธรณีสูบ : (คำกริยา) อาการที่แผ่นดินแยกออกทำให้คนที่ทำบาปกรรมอย่างยิ่งตกลงหายไป แล้วแผ่นดินก็กลับเป็นอย่างเดิม เป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาว่า ธรรมชาติจะลงโทษคนที่ทำบาปหนักนั้นเอง โดยผู้อื่นไม่ต้องลงโทษ.”
คำไทยที่ว่า “ธรณีสูบ” นี้ สำนวนบาลีไม่ได้ใช้คำว่า “ธรณี” แต่ใช้คำว่า “ปฐวี” ที่ภาษาไทยใช้ว่า “ปฐพี”
ภาษาไทย “ธรณีสูบ” คำบาลีที่พบในคัมภีร์ท่านใช้ว่า “ปฐวิปฺปเวสน” อ่านว่า ปะ-ถะ-วิบ-ปะ-เ-ว-สะ-นะ แยกศัพท์เป็น ปฐวี + ปเวสน
(๑) “ปฐวี”
อ่านว่า ปะ-ถะ-วี รากศัพท์มาจาก
(1) ป (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน) + ถวฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อี ปัจจัย, แปลง ถ เป็น ฐ
: ป + ถวฺ > ฐว + อี = ปฐวี แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่เดินไป”
(2) ป (ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน) + ถรฺ (ธาตุ = ปู, ลาด) + อี ปัจจัย, แปลง ถรฺ เป็น ฐวฺ
: ป + ถรฺ > ฐว + อี = ปฐวี แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ลาดไปทุกหนแห่ง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “ปฐวี” ตามตัวอักษรว่า “สิ่งที่กว้าง, ความกว้าง, การขยาย” (the broad one, breadth, expansion)
“ปฐวี” หมายถึง แผ่นดิน (the earth)
(๒) “ปเวสน”
อ่านว่า ปะ-เว-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน) + วิสฺ (ธาตุ = ไป, เข้าไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ วิ-(สฺ) เป็น เอ (วิส > เวส)
: ป + วิสฺ = ปวิสฺ + ยุ > อน = ปวิสน > ปเวสน แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “การเข้าไป”
“ปเวสน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การไป, การดำเนินไป, การเข้าไป (going in, entering, entrance)
(2) การเริ่มต้น (beginning)
(3) การใส่เข้าไป, การใช้หรือการยื่นส่งให้ (putting in, application)
(4) ทางเข้า (means of entry)
(5) (คุณศัพท์) สามารถเข้าได้ (able to enter)
บาลี “ปเวสน” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประเวศ” และ “ประเวศน์” เช่นชื่อกัณฑ์ “วนประเวศน์” ในมหาเวสสันดรชาดกเป็นต้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประเวศ, ประเวศน์ : (คำนาม) การเข้ามา, การเข้าถึง, การเข้าสู่. (ส. ปฺรเวศ, ปฺรเวศน; ป. ปเวส, ปเวสน).”
ปฐวี + ปเวสน รัสสะ อี ที่ -วี เป็น อิ (ปฐวี > ปฐวิ), ซ้อน ปฺ
: ปฐวี > ปฐวิ + ปฺ + ปเวสน = ปฐวิปฺปเวสน (ปะ-ถะ-วิบ-ปะ-เว-สะ-นะ) แปลว่า “การเข้าไปสู่แผ่นดิน”
“ปฐวิปฺปเวสน” เป็นคำบาลีแท้ ไม่มีใช้ในภาษาไทย แต่ถ้าจะแปลงรูปแบบทับศัพท์ ก็น่าจะใช้เป็น “ปฐวีประเวศน์” หรือ “ปฐพีประเวศน์” รูปงามเสียงเพราะดีทีเดียว แต่ถ้ารู้ความหมายก็น่าสยดสยอง
อภิปราย :
“ปฐวิปฺปเวสน” หรือ “ปฐวีประเวศน์” หรือที่คำไทยพูดว่า “ธรณีสูบ” นี้ พจนานุกรมฯ (ดังอ้างข้างต้น) บอกว่า “เป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนา”
เมื่อใช้คำว่า “เป็นความเชื่อ” ก็มีทางที่เข้าใจหรือแย้งได้ว่า อาจไม่ใช่ความจริง
เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ที่กล่าวถึงคนที่ถูก “ธรณีสูบ” เป็นที่รู้กันแพร่หลาย ก็คือ
๑ นางจิญจมาณวิกา กรณีกล่าวหาใส่ความพระพุทธองค์ว่าทำให้นางมีครรภ์
๒ พระเทวทัต ทำกรรมหนักหลายกรณี เช่นพยายามปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ทำสังฆเภท (ทำสงฆ์ให้แตกกัน) เป็นต้น
๓ พระเจ้าสุปปพุทธศากยะ กรณีขัดขวางปิดกั้นทางเสด็จพระพุทธดำเนิน
๔ นันทมาณพ กรณีประทุษร้ายพระอุบลวรรณาเถรี อัครสาวิกา
นักอธิบายธรรมะสมัยใหม่พยายามอธิบาย “ธรณีสูบ” ให้เป็นวิทยาศาสตร์ เช่นบอกว่า น่าจะเป็นกรณีถูกโคลนดูดหรือทรายดูด
บางท่านอธิบายในเชิงเป็นสำนวนโวหาร เช่นบอกว่าน่าจะหมายถึงถูกประชาชนรุมประชาทัณฑ์จนร่างกายแหลกเหลวติดกับพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม “ธรณีสูบ” นั้น ท่านว่าเป็นวิบากคือผลของกรรมหนักที่ให้ผลในชาติปัจจุบันทันตาเห็น ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า และอันว่า “กรรมวิบาก” นั้นท่านว่าเป็น “อจินไตย” คือสิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยคำอธิบายในเชิงเหตุผล แต่ต้องประสบหรือได้สัมผัสรู้ด้วยตัวเองแบบตัวใครตัวมัน อย่างที่ท่านว่า “ปัจจัตตัง”
พอเทียบได้กับรสอาหาร คือรสอาหารนั้นใครจะอธิบายละเอียดลึกซึ้งถี่ถ้วนหยดย้อยขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงความจริงได้ ต่อเมื่อผู้ใดได้ลิ้มรสนั้นด้วยตัวเอง คราวนี้แม้ไม่มีใครอธิบายอะไรเลยผู้นั้นก็จะเข้าใจได้ทันทีด้วยตัวเอง
“ปฐวิปฺปเวสน” หรือ “ปฐวีประเวศน์” หรือ “ธรณีสูบ” ก็น่าจะมีคติเช่นเดียวกันนั่นแล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บัณฑิต พยายามทำความเชื่อให้ตรงกับความจริง
: คนเขลา พยายามเกณฑ์ความจริงให้ตรงกับความเชื่อ
#บาลีวันละคำ (3,015)
13-9-63