บาลีวันละคำ

รังสีเอกซ์ (บาลีวันละคำ 3,350)

รังสีเอกซ์

คนค้นพบตายแล้ว แต่ผลงานยังอยู่

อ่านว่า รัง-สี-เอ๊ก

ประกอบด้วยคำว่า รังสี + เอกซ์

(๑) “รังสี

บาลีเป็น “รํสิ” (รัง-สิ) รากศัพท์มาจาก รสฺ (ธาตุ = ยินดี) + อิ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (รสฺ > รํส)

: รสฺ + อิ = รสิ > รํสิ แปลตามศัพท์ว่า “แสงเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” หมายถึง แสง, แสงสว่าง (a ray, light)

รํสิ” สันสกฤตเป็น “รศฺมิ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

รศฺมิ : (คำนาม) รัศมี; ปักษมัน, ขนตา; a ray of light; an eye-lash.”

รํสิ” ภาษาไทยใช้เป็น “รังสิ” และ “รังสี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

รังสิ, รังสี : (คำนาม) แสง, แสงสว่าง. (ป. รํสิ; ส. รศฺมี).”

(๒) “เอกซ์” 

ทับศัพท์มาจาก X ซึ่งเป็นอักษรโรมัน คนไทยโดยทั่วไปออกเสียงว่า เอ๊ก 

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกความหมายของ ไว้หลายอย่าง ขอยกมาเฉพาะที่น่าจะเกี่ยวข้อง 2 อย่าง คือ

(1) X (เอ็คซ) n. adj.รูปตัวเอ็คซ

(2) x (เอ็คซ) n. 

1. จำนวนที่ไม่รู้ หรือที่จะต้องหาค่าในพีชคณิต ในภาษาไทยมักใช้อักษร ก ถ้ามีจำนวนเช่นนี้หลายจำนวน มักใช้ x y z คือ ก ข ค 

2. สิ่งลึกลับ 

3. อำนาจลึกลับ, บุคคลลึกลับ

รังสี + เอกซ์ = รังสีเอกซ์ เป็นคำประสมแบบไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “รังสีเอกซ์” ไว้ บอกไว้ดังนี้ – 

รังสีเอกซ์ : (คำนาม) รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งมีย่านของการแผ่รังสีที่มีช่วงคลื่นอยู่ประมาณระหว่าง ๕ x ๑๐-๙ เมตร ถึง ๖ x ๑๐-๑๒ เมตร ใช้ประโยชน์ในทางแพทย์ ทางวิศวกรรม เป็นต้น, รังสีเรินต์เกน หรือ เอกซเรย์ ก็เรียก; เรียกการถ่ายภาพอวัยวะภายในโดยใช้รังสีเอกซ์ว่า การถ่ายภาพเอกซเรย์, เรียกการรักษาโรคมะเร็งและโรคผิวหนังบางประเภท โดยใช้รังสีเอกซ์ที่มีช่วงคลื่นสั้นกว่าที่ใช้ถ่ายภาพว่า การฉายเอกซเรย์ หรือ การฉายแสง.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เอกซเรย์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ – 

เอกซเรย์ : (คำนาม) รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งมีย่านของการแผ่รังสีที่มีช่วงคลื่นอยู่ระหว่างประมาณ ๕ x ๑๐-๙ เมตร ถึง ๖ x ๑๐-๑๒ เมตร ใช้ประโยชน์ในทางแพทย์ ทางวิศวกรรม เป็นต้น, รังสีเรินต์เกน หรือ รังสีเอกซ์ ก็เรียก; เรียกการถ่ายภาพอวัยวะภายในโดยใช้เอกซเรย์ว่า การถ่ายภาพเอกซเรย์, เรียกการรักษาโรคมะเร็งและโรคผิวหนังบางประเภท โดยใช้เอกซเรย์ที่มีช่วงคลื่นสั้นกว่าที่ใช้ถ่ายภาพ ว่า การฉายเอกซเรย์ หรือ การฉายแสง. (อ. X-rays).”

อภิปรายขยายความ :

โปรดสังเกตว่า คำนิยาม “รังสีเอกซ์” กับคำนิยาม “เอกซเรย์” ในพจนานุกรมฯ นั้น แทบจะตรงกันคำต่อคำ ยักเยื้องเฉพาะตรงคำว่า “รังสีเอกซ์” กับคำว่า “เอกซเรย์” เท่านั้น

แต่มีที่ลักลั่นอยู่แห่งหนึ่ง คือ ข้อความในคำนิยามตรงที่ว่า “ซึ่งมีย่านของการแผ่รังสีที่มีช่วงคลื่นอยู่ประมาณระหว่าง” ในคำว่า “รังสีเอกซ์” และข้อความในคำนิยามตรงที่ว่า “ซึ่งมีย่านของการแผ่รังสีที่มีช่วงคลื่นอยู่ระหว่างประมาณ” ในคำว่า “เอกซเรย์

ข้อความนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน แห่งหนึ่งใช้ว่า “อยู่ประมาณระหว่าง” แต่อีกแห่งหนึ่งใช้ว่า “อยู่ระหว่างประมาณ” มีเหตุผลอะไรจึงใช้ต่างกัน หรือมีเหตุผลอะไรจึงไม่ใช้ให้เหมือนกัน

หาความรู้เพิ่มเติมต่อไปอีกหน่อย

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ดังนี้ –

…………..

X rays (เอคซ-เรส) p. 

รังสีเอกซ์, แสงซึ่ง Roentgen เป็นผู้พบ ใช้ในการแพทย์สำหรับส่องดู หรือถ่ายภาพอวัยวะภายใน 

…………..

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรม สอ เสถบุตร สะกดคำนี้เป็น X rays ไม่มีขีดกลางระหว่าง X กับ rays 

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดคำนี้เป็น X-rays มีขีดกลางระหว่าง X กับ rays

ที่ถูกควรสะกดอย่างไร ขอท่านผู้รู้พึงพิจารณาด้วยเถิด

ทำไมจึงเรียกรังสีชนิดนี้ว่า “รังสีเอกซ์” หรือ “เอกซเรย์” (X-rays หรือ X rays)?

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “รังสีเอกซ์” (อ่านเมื่อ 14 สิงหาคม 2564 เวลา 20:30 น.) มีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้ 

…………..

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 1896 Wilhelm Conrad Röntgen นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ได้เริ่มทำการศึกษาและวิจัยรังสีเอกซ์ขณะทำการทดลองกับท่อสุญญากาศ แล้วในวันที่ 28 ธันวาคม 1895 เขาได้เขียนรายงานเรื่อง On a new kind of ray: A preliminary communication ซึ่งรายงานเล่มนี้ได้พูดถึง รังสีเอกซ์ ซึ่งได้ระบุไว้ว่าเป็นรังสีที่ยังระบุประเภทไม่ได้ (จึงตั้งชื่อไว้ก่อนว่า รังสีเอกซ์) ส่งผลให้ชื่อรังสีเอกซ์ถูกใช้กันมา นิยมมากกว่าชื่อที่นักวิทยาศาสตร์ตั้งให้ว่า รังสีเรินต์เกน (Röntgen rays) และทำให้ Röntgen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากการค้นพบและพิสูจน์ปรากฏการณ์นี้

…………..

ได้ความตามสารานุกรมเสรีว่า ที่เรียกชื่อว่า “รังสีเอกซ์” หรือ X-rays (หรือ X rays?) ก็เพราะในตอนที่ค้นพบนั้นยังระบุประเภทไม่ได้ จึงตั้งชื่อไว้ก่อนว่า X-rays (ดูความหมายของ X ในพจนานุกรม สอ เสถบุตร ข้างต้น)

น่าศึกษาต่อไปว่า ทำไมฝรั่งจึงใช้อักษร X แทนค่าสิ่งที่ยังรู้ไม่ได้ว่าคืออะไร คงต้องขอแรงท่านผู้รู้เข้ามาช่วยบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกันต่อไป

อนึ่ง ชื่อผู้ค้นพบ ซึ่งพจนานุกรม สอ เสถบุตร สะกดเป็น Roentgen และวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีสะกดเป็น Röntgen (โปรดสังเกตความแตกต่างระหว่าง o กับ ö) นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกคำอ่านว่า เรินต์เกน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนฉลาด ใช้ร่างกายที่ไร้สาระรังสรรสิ่งที่มีสาระไว้เป็นมรดกโลก

: คนเขลา ใช้มรดกโลกทำสิ่งที่ไร้สาระ

——————————-

หมายเหตุ: ตามคำขอของ Mongkol Plagpromrat 

เนื่องด้วยรองศาสตราจารย์รังษี สุทนต์ เปรียญธรรม 9 ประโยค บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564

รองศาสตราจารย์รังษี สุทนต์ และผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นกรรมการในคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์พระไตรปิฎกของราชบัณฑิตยสภา ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2559 

นับได้ว่า วงการนักศึกษาภาษาบาลีและวงการพระพุทธศาสนาสูญเสียบุคลากรผู้มีคุณภาพสูงยิ่งไปอีกคนหนึ่ง

#บาลีวันละคำ (3,350)

14-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *