บาลีวันละคำ

สัตถันดร (บาลีวันละคำ 3,349)

สัตถันดร

คือยุคมิคสัญญี-อีกชื่อหนึ่ง

อ่านว่า สัด-ถัน-ดอน

ประกอบด้วยคำว่า สัตถ + อันดร

(๑) “สัตถ”

เขียนแบบบาลีเป็น “สตฺถ” อ่านว่า สัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์”

(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + ถ = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย”

(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + ถ = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ”

“สตฺถ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)

(2) “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(3) “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)

ในคำว่า “สัตถันดร” นี้ “สตฺถ” หมายถึง “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” หรือ “ของมีคม” ความหมายรวมๆ คือ อาวุธ

บาลี “สตฺถ” สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”

ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “สัตถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สัตถ-” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สัตถ- ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) คัมภีร์, ตํารา. (ป.; ส. ศาสฺตฺร).

(2) สัตถ- ๒ : (คำแบบ) (คำนาม) เกวียน. (ป.; ส. สารฺถ).

(3) สัตถ- ๓ : (คำแบบ) (คำนาม) อาวุธ, มีด, หอก. (ป.; ส. ศสฺตฺร).

คำว่า “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

ในที่นี้ “สัตถ” ใช้ในความหมายตามข้อ (3)

(๒) “อันดร”

บาลีเป็น “อนฺตร” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ (อติ > อํติ) แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อํติ > อนฺติ), ลบสระที่สุดธาตุ (-ติ > ต)

: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” หมายถึง ภายใน, ระหว่าง (inside, in between)

“อนฺตร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อันตร-” (อัน-ตะ-ระ-) ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อันตร- : (คำนาม) ช่อง. (คำวิเศษณ์) ภายใน, ชั้นใน; ใกล้เคียง, เกือบ; ระหว่าง; อื่น, ต่างไป. (ป., ส.).”

“อนฺตร” ในที่นี้ใช้เป็น “อันดร” (อัน-ดอน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อันดร : (คำนาม) ภายใน, ระหว่าง, มักใช้เข้าสนธิกับคําอื่น เป็นส่วนท้ายของคําสมาส เช่น พุทธ + อันดร = พุทธันดร นิร + อันดร = นิรันดร. (ป., ส. อนฺตร).”

ในบาลี สตฺถ + อนฺตร = สตฺถนฺตร (สัด-ถัน-ตะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ระหว่างแห่งศัสตรา” หมายถึง ช่วงเวลาที่มนุษย์ใช้ศัสตราวุธเข่นฆ่ากัน

บาลี “สตฺถนฺตร” ในภาษาไทยใช้เป็น “สัตถันดร” (สัด-ถัน-ดอน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“สัตถันดร, สัตถันดรกัป : (คำนาม) ชื่อกัปหรือกัลป์หนึ่ง ซึ่งถือว่าคนเสื่อมจากศีลธรรมอย่างที่สุด มีการรบราฆ่าฟันกัน ไม่รู้จักญาติพี่น้อง เช่น ห้าขวบมีฆราวาส ใจร้ายกาจโกลี กัลปนั้นมีนามกร ชื่อสัตถันดรพึงมี. (มาลัยคําหลวง). (ป. สตฺถ + อนฺตร).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –

“สัตถันดร, สัตถันดรกัป : (คำนาม) ระยะเวลาที่คนเสื่อมจากศีลธรรมอย่างที่สุด มีการรบราฆ่าฟันกัน ไม่รู้จักญาติพี่น้อง เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีโทสะหนา เช่น ห้าขวบมีฆราวาส ใจร้ายกาจโกลี กัลปนั้นมีนามกร ชื่อสัตถันดรพึงมี (มาลัยคำหลวง). (ป. สตฺถ ว่า อาวุธ + อนฺตร). (ดู อันตรกัป ประกอบ).”

ไปดูที่คำว่า “อันตรกัป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อันตรกัป : (คำนาม) กัปที่อยู่ในระหว่าง, ช่วงเวลาระหว่างอสงไขยกัป, มี ๓ ประเภท คือ ทุพภิกขันดรกัป โรคันดรกัป และสัตถันดรกัป. (ป. อนฺตรกปฺป).”

ขยายความ :

ในจักกวัตติสูตรมีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ ถอดความเป็นไทยได้ดังนี้ –

…………..

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี มนุษย์ในยุคนั้นต่างก็จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จักเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้า เกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าฉันใด เมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี มนุษย์จักมีความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่าอย่างแรงกล้าในกันและกันฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย 10 ปี จักมีสัตถันดรกัปสิ้น 7 วัน มนุษย์เหล่านั้นจักสำคัญกันและกันว่าเป็นเนื้อ ศัสตราทั้งหลายอันคมจักปรากฏมีในมือของพวกเขา พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคมนั้นโดยสำคัญว่าคนนี้เป็นเนื้อ

ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 46-47

…………..

ได้ความตามพระสูตรนี้ว่า “สัตถันดร” คือช่วงเวลาที่มนุษย์ฆ่ากันเหมือนคนล่าเนื้อ และจะมีเวลาฆ่ากันเช่นนั้นอยู่ 7 วัน และนี่ก็คือที่คนเก่าท่านเรียกว่า “ยุคมิคสัญญี”

ดูเพิ่มเติม: “มิคสัญญี” บาลีวันละคำ (645) 21-2-57

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีทางที่จะทำให้ไม่เกิดยุคสัตถันดร

: แต่มีทางที่จะทำให้ไม่เกิดในยุคสัตถันดร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *