บาลีวันละคำ

ไวยาวัจมัย (บาลีวันละคำ 3,348)

ไวยาวัจมัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 5)

“ทำบุญช่วยงาน”

…………..

วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:

ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –

1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ

2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี

3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา

ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ 

4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น

7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น 

8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ 

9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ 

10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

…………..

ทำบุญวิธีที่ 5 “ไวยาวัจมัย

อ่านว่า ไว-ยา-วัด-จะ-ไม

ประกอบด้วยคำว่า ไวยาวัจ + มัย

(๑) “ไวยาวัจ

บาลีเป็น “เวยฺยาวจฺจ” อ่านว่า เวย-ยา-วัด-จะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + วฏฺ (ธาตุ = หมุน, แจก) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), แปลง อิ ที่ วิ เป็น (วิ > วฺย) แล้วแปลง วยฺ เป็น เวยฺย, แปลง ที่สุดธาตุกับ (ณฺย ปัจจัย) เป็น จฺจ 

: วิ > วฺย + อา + วฏฺ = วฺยาวฏฺ + ณฺย = วฺยาวฏณฺย > วฺยาวฏฺย > วฺยาวจฺจ > เวยฺยาวจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “การหมุนไปรอบด้านอย่างวิเศษ” หมายถึง การบริการ, การเอาใจใส่, การรับใช้, การงาน, งาน, หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, หน้าที่การงาน (service, attention, rendering a service; work, labour, commission, duty)

บาลี “เวยฺยาวจฺจ” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไวยาวัจ” (เวยฺยา เป็น ไวยา, วจฺจ ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น วัจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บรูปคำ “ไวยาวัจ” แต่เก็บเป็นรูปคำว่า “ไวยาวัจกร” และ “ไวยาวัจมัย” 

คำว่า “ไวยาวัจกร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

ไวยาวัจกร : (คำนาม) คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอํานาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ. (ป. เวยฺยาวจฺจกร).”

(๒) “มัย” 

บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)

(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)

(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)

(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)

(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)

(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)

กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ

เวยฺยาวจฺจ + มย = เวยฺยาวจฺจมย (เวย-ยา-วัด-จะ-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการช่วยขวนขวาย” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยไวยาวัจ” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญช่วยงาน” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีช่วยขวนขวายทำกิจที่ควรทำของบุคคลก็ดี ของส่วนรวมก็ดี

เวยฺยาวจฺจมย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไวยาวัจมัย” 

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ไวยาวัจมัย : (คำวิเศษณ์) ที่สําเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือ (ใช้แก่บุญ). (ป. เวยฺยาวจฺจมย).

ข้อสังเกต :

คำในชุดนี้บางคำเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แต่บางคำก็ไม่ได้เก็บไว้ 

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้เก็บคำในชุดนี้ไว้ครบทุกคำ และได้ปรับปรุงคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้สมบูรณ์ขึ้น เท่าที่สังเกตพบก็คือเพิ่มข้อความว่า “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐. (ป.).”

เช่นคำว่า “ทานมัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทานมัย : (คำวิเศษณ์) สําเร็จด้วยทาน, แล้วไปด้วยทาน. (ป., ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้เป็น –

ทานมัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยทาน, แล้วไปด้วยทาน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ. (ป., ส.).”

นั่นคือเพิ่มข้อความ “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.”

แต่ที่คำว่า “ไวยาวัจมัย” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คงใช้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 คือไม่ได้เพิ่มข้อความ “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ, ทำดีด้วยการช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่น (ข้อ ๕ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐); ไวยาวัจมัย ก็เขียน

…………..

โปรดสังเกต: พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สะกดคำนี้เป็น “เวยยาวัจจมัย” แต่ก็บอกไว้ว่า “ไวยาวัจมัย ก็เขียน” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดคำนี้เป็น “ไวยาวัจมัย” 

ในที่นี้สะกด “ไวยาวัจมัย” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า  “เวยฺยาวจฺจ” แปลไว้ว่า service, attention, rendering a service; work, labour, commission, duty (การบริการ, การเอาใจใส่, การรับใช้, การงาน, งาน, หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, หน้าที่การงาน-อ้างแล้วข้างต้น) แต่ไม่มีคำที่สมาสกับ “มย” เป็น “เวยฺยาวจฺจมย” 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ – 

…………..

5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — Veyyāvaccamaya: by rendering services)

…………..

กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ไวยาวัจมัย” คือ โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) ประสมด้วยมักขะ (ความหลู่ความดีของผู้อื่น)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้แต่คนที่เห็นแก่ตัว

: ก็ยังไม่ชอบความเห็นแก่ตัว

#บาลีวันละคำ (3,348)

12-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *