อธรรมราค (บาลีวันละคำ 3,347)
อธรรมราค
ราคะที่ผิดธรรม
ประกอบด้วยคำว่า อธรรม + ราค
(๑) “อธรรม”
รูปคำเดิมมาจาก อ + ธรรม
(ก) “อ” (อะ) แปลงมาจาก “น” (นะ) เป็นศัพท์จำพวกนิบาต บอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(ข) “ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
“ธรรม” ในที่นี้ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)
น + ธมฺม แปลง น เป็น อ ตามกฎการประสมของ น + กล่าวคือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน-
ในที่นี้ “ธมฺม” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ธ- จึงต้องแปลง น เป็น อ
: น + ธมฺม = นธมฺม > อธมฺม (อะ-ทำ-มะ) แปลว่า “ไม่ใช่ธรรม” หมายถึง ผิด, ไม่ยุติธรรม; ความประพฤติปฏิบัติที่ต่ำทราม; ความไม่เป็นธรรม, อกุศล (false, unjust; evil practice; unrighteousness, sin)
“อธมฺม” ในภาษาไทยใช้เป็น “อธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อธรรม : (คำวิเศษณ์) ไม่เป็นธรรม, ไม่เที่ยงธรรม, ไม่ยุติธรรม.น. ความไม่มีธรรม, ความชั่วร้าย. (ส.).”
(๒) “ราค”
บาลีอ่านว่า รา-คะ รากศัพท์มาจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ย้อม, กำหนัด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ลบ ญฺ ที่ รญฺชฺ (รญฺช > รช), ทีฆะ อะ ที่ ร-(ชฺ) เป็น อา (รชฺ > ราช), แปลง ช ป็น ค
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช > ราค (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การย้อมสี” “ภาวะเป็นเหตุให้กำหนัด”
“ราค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) สี, สีย้อม, การทำให้เป็นสี (colour, hue; colouring, dye)
(2) ความกำหนัด, ตัณหา (excitement, passion)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราค-, ราคะ : (คำนาม) ความกําหนัดยินดีในกามารมณ์, ความใคร่ในกามคุณ. (ป., ส.).”
อธมฺม + ราค = อธมฺมราค > อธรรมราค แปลว่า “ความกำหนัดที่ผิดธรรม”
ขยายความ :
ในจักกวัตติสูตรบรรยายถึงความเสื่อมของมนุษยชาติไว้ว่า ในยุคสมัยที่ศีลธรรมเต็มบริบูรณ์ มนุษย์เคยมีอายุขัยถึง 80,000 ปี แต่เมื่อจิตใจค่อยๆ เสื่อมจากศีลธรรม อายุก็ถดถอยลง “อธรรม” หรือลักษณะนิสัยที่เสื่อมทรามในรูปแบบต่างๆ ก็พอกพูนมากขึ้น
จนกระทั่งมนุษย์มีอายุขัยลดลงเหลือ 500 ปี (จาก 80,000 ปี!) จักกวัตติสูตรบรรยายว่า –
…………..
ปญฺจวสฺสสตายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ ตโย ธมฺมา เวปุลฺลมคมํสุ อธมฺมราโค วิสมโลโภ มิจฺฉาธมฺโม.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ 500 ปี นิสัย 3 ประการ คือ อธรรมราค วิสมโลภ มิจฉาธรรม ก็เกิดแพร่หลายขึ้น
ที่มา:จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 45
…………..
นั่นหมายความ ก่อนหน้านี้ลักษณะนิสัยเช่นนี้ยังไม่มีในหมู่มนุษย์ และนั่นก็หมายความว่า ลักษณะนิสัยเช่นนี้ในหมู่มนุษย์มีมาแล้วตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัย 500 ปี
คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
อธมฺมราโคติ มาตา มาตุจฺฉา ปิตา ปิตุจฺฉา มาตุลานีติอาทิเก อยุตฺตฏฺฐาเน ราโค.
คำว่า อธรรมราค หมายความว่า ความกำหนัดในฐานะอันไม่สมควร คือกำหนัดในมารดา น้าหญิง บิดา อาหญิง ป้า เป็นต้น
วิสมโลโภติ ปริโภคยุตฺเตสุปิ ฐาเนสุ อติพลวโลโภ.
คำว่า วิสมโลภ หมายความว่า แม้ในเรื่องที่ควรจะบริโภคก็จะอยากได้อย่างรุนแรง (หมายถึง แม้ในเรื่องที่ควรจะเสพสมกันตามปกติก็จะเสพกันอย่างโลดโผนดุเดือด)
มิจฺฉาธมฺโมติ ปุริสานํ ปุริเสสุ อิตฺถีนญฺจ อิตฺถีสุ ฉนฺทราโค.
คำว่า มิจฉาธรรม หมายความว่า ความกำหนัดพึงใจกันระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง
ที่มา: จกฺกวตฺติสุตฺตวณฺณนา สุมังคลวิลาสินี ภาค 3 หน้า 59
…………..
ในพระสูตรเองก็บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า –
…………..
ทสวสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ น ภวิสฺสติ มาตาติ วา มาตุจฺฉาติ วา ปิตาติ วา ปิตุจฺฉาติ วา มาตุลานีติ วา อาจริยภริยาติ วา ครูนํ ทาราติ วา สมฺเภทํ โลโก คมิสฺสติ ยถา อเชฬกา กุกฺกุฏา สูกรา โสณา สิคาลา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ 10 ปี เขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม้ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยาของอาจารย์ นี่ภรรยาของครู สัตว์โลกจักสมสู่ปะปนกันหมด เปรียบเหมือนแพะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๖
…………..
จักกวัตติสูตรเป็นพระสูตรที่น่าศึกษา ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็คงไม่เสียเวลาเปล่า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ธรรมชาติเป็นธรรมเสมอ
: มนุษย์เองต่างหากที่ผิดธรรม