บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มรดกแม่

มรดกแม่

……….

แม่ผมเป็นคนเพชร พูดแค่นี้คนในพื้นถิ่นเข้าใจ แต่ถ้าพูดภาษาทางการต้องบอกว่า แม่ผมเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี

แม่เป็นคนอำเภอบ้านลาด ตำบลที่แม่อยู่นั้นผมเคยเข้าใจว่าชื่อ “บ้านถ่าน” แต่สอบแล้วกลายเป็น “บ้านทาน” 

ถ่านหุงข้าว

ทำบุญทำทาน

เสียง “ถ่าน” กับ “ทาน” สำเนียงเพชรบุรีจะต่างกันชัดๆ แต่ถ้าพูดสำเนียงภาษากลางเสียงจะคล้ายกัน 

พ่อเป็นคนราชบุรี แต่น่าจะมีญาติอยู่แถวๆ อัมพวา-แม่กลอง-คลองโคน พี่สาวต่างแม่ของผมยังอยู่แถวนั้นกันเยอะ

พ่อผมมีเมีย ๒ คน เมียใหญ่ตายจึงมาได้เมียเล็ก-คือแม่ผม เท่าที่ฟังผู้ใหญ่เล่าและพอจำได้ ลูกเขยคนโตของพ่อ-คือคนที่ได้กับลูกสาวคนโตของพ่อกับเมียใหญ่-ชื่อพี่เจ้ย เป็นคนเพชรบุรี จูงมือพ่อตา-คือพ่อผม-ไปเพชรบุรี บอกว่า ไปหาเมียกันเถอะพ่อ 

แล้วก็ไปได้แม่ผมที่บ้านลาด พามาอยู่ราชบุรี มาเกิดผมกับพี่ๆ อีก ๔ คนที่ราชบุรี

เท่าที่ผมรู้ เรา-พี่น้อง ๕ คน ไม่เคยไปอยู่เพชรบุรี แต่แปลกมาก เราพูดเพชรกันได้คล่องทั้ง ๕ คน

คำว่า “พูดเพชร” นี่ถ้าเทียบกับคำว่า “แหลงใต้” หรือ “อู้คำเมือง” จะเข้าใจได้ทันที หมายถึงพูดสำเนียงเพชรบุรี

แม้จนทุกวันนี้ ถ้าเจอคนเพชรบุรี ผมพูดเพชรด้วย เขาจะต้องถามว่าผมเป็นคนเพชรหรือ พูดเหมือนคนเพชรเลย

ผมบอกว่า เปล่า ผมเป็นคนราชบุรี คนปากท่อ ลูกเกิดป่าไก่ แต่แม่เป็นคนเพชร

…………………………..

คำว่า “ลูกเกิด” นี่ก็อีกคำหนึ่งที่คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จักกันแล้ว คนปากท่อ-ราชบุรียังพูดคำนี้กันอยู่ หมายถึงภูมิลำเนาเดิม เกิดที่บ้านไหน ตำบลอำเภออะไร – โดยเฉพาะจะเน้นที่ตำบล – เช่นเกิดที่ตำบลหนองกระทุ่ม ก็เรียกว่า “ลูกเกิดหนองกระทุ่ม” ผมเกิดที่ตำบลป่าไก่ จึงเป็น “ลูกเกิดป่าไก่”

คำว่า “ลูกเกิด” นี้ มีอิทธิพลต่อจิตใจมาก บ่งบอกถึงกำพืด พื้นเพ หรือรากเหง้าของคนคนนั้น และส่งผลถึงความรักความผูกพันต่อถิ่นกำเนิดอย่างลึกซึ้ง 

ที่ถือกันมากที่สุดก็คือ เกิดที่ไหนจะไม่ทำอะไรที่เป็นการทรยศหรือเนรคุณต่อถิ่นเกิดเป็นอันขาด คนทรยศต่อถิ่นกำเนิดถือว่าเลวทรามสุดๆ ไม่เหลือความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

…………………………..

น่าจะเป็นเพราะแม่พูดเพชรตลอด มาอยู่ราชบุรีแม่ก็ยังพูดเพชร พวกเราลูกๆ ได้ยินสำเนียงเพชรของแม่มาตั้งแต่เกิด สำเนียงเพชรจึงซึมซับอยู่ในจิตใจ

ผมว่า สำเนียงเพชรหรือพูดเพชรได้ นี่คือมรดกที่ผมได้จากแม่

เท่าที่จำได้ แม่ผมเป็นแม่เพลงพวงมาลัยด้วย คำว่า “แม่เพลง” ไม่ได้หมายถึงสอนร้องเพลงหรือตั้งวงเพลง แต่หมายความว่า เวลามีงานที่มีการร้องรำตามประเพณี-เช่นบวชนาคเป็นต้น แม่จะมี “ทีม” ของแม่ ไปร้องเพลงพวงมาลัย ไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นการทำด้วยใจรัก และทำแบบชาวบ้านช่วยงานสนุกสนานกันไปตามประสาพื้นบ้าน

ผมยังนึกภาพได้รางๆ แม่ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม มีปอยเล็กๆ ออกสองข้าง เรียกหางแซงแซวหรืออะไรผมเรียกไม่ถูก แต่ที่แน่ๆ แม่นุ่งโจงกระเบน ผมไม่เคยเห็นแม่นุ่งผ้าถุง 

ผมเคยเห็นรูปถ่ายแม่กับทีมของแม่ ๓ คน ไว้ผมทรงเดียวกัน นุ่งโจงกระเบนเหมือนกัน นั่งเรียงกันบนม้ายาว แม่นั่งกลาง เป็นรูปแม่รูปเดียวที่ผมเคยเห็น และตอนนี้รูปนั้นก็ไม่มีแล้ว ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน 

แต่รูปแม่อยู่ในใจผมตลอดเวลา

นิสัยชอบศิลปะ ซาบซึ้งกับศิลปะได้ง่าย ชอบภาษา ชอบกลอน ชอบวรรณคดี ผมว่านี่ก็เป็นมรดกอีกอย่างหนึ่งที่ผมได้จากแม่

ผมเข้าเรียนชั้น ป.เตรียมที่โรงเรียนวัดป่าไก่ ยังไม่ทันรู้เรื่องอะไรดี พี่ชายคนโตซึ่งบวชพระอยู่ที่วัดหนองกระทุ่มก็เอาผมไปอยู่วัดหนองกระทุ่ม ไปเป็นเด็กวัด และเข้าเรียน ป.เตรียมต่อที่โรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม 

ตอนนั้นผมคงอายุ ๗ หรือ ๘ ขวบ จำได้ว่าพ่อกับแม่จะไปเยี่ยมพระลูกชายคนโตและเยี่ยมผมลูกคนเล็กบ่อยๆ เวลาไปก็จะหาบเสบียงจำพวกข้าวสารอาหารแห้ง พริก หอม กระเทียม ไปฝากโรงครัววัด

พอจะกลับ พ่อจะควักเหรียญสลึงออกมาจากหูส่งให้ผม ซึ่งตอนนั้นผมรู้สึกทึ่งมากๆ เหมือนกับว่าพ่อเป็นผู้วิเศษ มีสตางค์อยู่ในหู ควักออกมาให้ใครก็ได้

ส่วนแม่ก็จะบอกผม “ย้อย อย่าไปวิ่งเล่นขอบสระ เดี๋ยวจะตกน้ำตายไม่มีใครเห็น” 

สำเนียงเพชรของแม่ยังติดหูผมอยู่จนถึงวันนี้

แม่ตายตอนผมอยู่ชั้นประถม ๒ อายุ ๑๐ ขวบ ตอนนั้นยังไม่รู้สึกถึงอารมณ์สุขทุกข์อะไรสักเท่าไร จำได้ว่าไปบ้านที่ป่าไก่กับพระพี่ชาย เห็นแม่นอน มีผ้าผวยคลุม พี่ชายบอกให้กราบแม่ ภาพที่ติดตาชัดมีแค่นี้ ตอนสวด ตอนเผา จำอะไรไม่ได้เลย

แต่ภาพแม่หาบเสบียงจากป่าไก่ไปส่งลูกที่วัดหนองกระทุ่ม ผมยังจำได้แม่น 

สำเนียงเพชรของแม่ที่เตือนผมก่อนกลับผมก็ยังจำได้แม่น ไม่มีวันลืม

“ย้อย อย่าไปวิ่งเล่นขอบสระ เดี๋ยวจะตกน้ำตายไม่มีใครเห็น” 

แม่จะบอกอะไรผม?

อย่าไปวิ่งเล่นขอบสระ – หมายถึงอะไร?

เดี๋ยวจะตกน้ำตาย – คืออะไร?

ไม่มีใครเห็น – คืออย่างไร?

นี่เป็นมรดกแม่ที่ผมขบคิดมาตลอด

แม่จะบอกอะไรผม?

มันอาจจะเป็นขุมทรัพย์หรืออะไรสักอย่างที่มีค่ามากๆ-ถ้าผมตีปริศนาของแม่ออก 

ผมคิดได้หลายอย่าง หลายแง่มุม แต่ไม่เคยตกลงใจว่าอย่างไหนถูก ผมอยากให้เป็นปริศนาอยู่อย่างนี้ เพื่อผมจะได้มีเรื่องขบคิดฝึกสมองทดลองปัญญาไปได้เรื่อยๆ

เหมือนแม่ยังอยู่ข้างๆ ผมตลอดไป

เพื่อให้ผมคิดถึงแม่ได้ทุกวัน

ไม่ใช่คิดถึงแม่เฉพาะวันแม่วันเดียว-อย่างที่ใครๆ สมัยนี้เขานิยมทำกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๑:๔๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *