บาลีวันละคำ

ทุจริต (บาลีวันละคำ 925)

ทุจริต

อ่านว่า ทุด-จะ-หฺริด

บาลีเป็น “ทุจฺจริต” (ซ้อน จฺ) อ่านว่า ทุด-จะ-ริ-ตะ

ทุจฺจริต” รากศัพท์มาจาก ทุ + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมหน้าปัจจัยหรือที่สุดธาตุ, ซ้อน จฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ

: ทุ + จฺ + จรฺ = ทุจฺจร + อิ = ทุจฺจริ + = ทุจฺจริต

ความรู้ทางหลักภาษา :

(1) ทุ เป็นคําอุปสรรค (อุปสรรค : คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า ชั่ว, ผิด, ยาก, ลําบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว (bad, wrong, perverseness, difficulty, badness)

(2) “ทุ” ในบาลีจะแปลงเป็น “ทุร” หรือ “ทูร” เมื่อคำที่ “ทุ” ไปประสมขึ้นต้นด้วยสระ เช่น ทุ + อาคม (อา– เป็นสระ) : ทุ > ทุร + อาคม = ทุราคม (แปลว่า การถึงลําบาก, การอยู่ทางไกล)

ในที่นี้ “จริต” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ทุ + จริต จึงคงรูปเป็น ทุ– แต่ซ้อน จฺ จึงเป็น ทุจฺจริต (ทุด-จะ-ริ-ตะ)

จริต” เป็นคำนาม มีความหมายว่า การกระทำ, ความประพฤติ (action, behaviour)

ทุ + จริต = ทุจฺจริต > ทุจริต แปลว่า การทำชั่ว, ความประพฤติชั่ว (bad action, wrong conduct) (ตรงกันข้ามกับ สุ + จริต = สุจริต (โปรดสังเกตว่า สุจริต บาลีไม่ซ้อน จฺ) แปลว่า การทำดี, ความประพฤติดี good action, right conduct)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทุจริต” ไว้ว่า –

(1) (คำนาม) ความประพฤติชั่ว, ถ้าเป็นความประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า กายทุจริต, ถ้าเป็นความประพฤติชั่วทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต, ถ้าเป็นความประพฤติชั่วทางใจ เรียกว่า มโนทุจริต.

(2) (คำกริยา) โกง เช่น ทุจริตในการสอบ, คดโกง, ฉ้อโกง, เช่น ทุจริตต่อหน้าที่.

(3) (คำวิเศษณ์) ไม่ซื่อตรง เช่น คนทุจริต.

ในภาษาไทย “ทุจริต” มักใช้ในความหมายว่า โกง, กินสินบน, ประพฤติมิชอบต่อหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หรือที่เรียกเป็นคำอังกฤษว่า corruption

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล corruption เป็นบาลีไว้ดังนี้:

(1) dūsana ทูสน (ทู-สะ-นะ), padussana ปทุสฺสน (ปะ-ทุด-สะ-นะ), sampadussana สมฺปทุสฺสน (สำ-ปะ-ทุด-สะ-นะ) = การทำให้เสียหาย, การทำร้าย

(2) kalusīkaraṇa กลุสีกรณ (กะ-ลุ-สี-กะ-ระ-นะ) = การทำให้ขุ่นมัว, ทำไม่สะอาด

(3) kilissana กิลิสฺสน (กิ-ลิด-สะ-นะ) = ความเศร้าหมอง, ความสกปรก

(4) pūtibhāva ปูติภาว (ปู-ติ-พา-วะ) = ภาวะที่บูดเน่า, ความเน่าเสีย

(5) padosa ปโทส (ปะ-โท-สะ) = ความบกพร่อง, ความผิด, ข้อตำหนิ, ความเลวทราม, ความชั่ว

(6) vipallāsa วิปลฺลาส (วิ-ปัน-ลา-สะ) = ความวิปริต, ความผิดเพี้ยน, ความเสียหาย

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล corruption ว่า ทุจฺจริต

ในทางธรรม ท่านจำแนก “ทุจริต” ทั้ง 3 ทางไว้ดังนี้:

(๑) กายทุจริต ประพฤติชั่วด้วยกาย, ประพฤติชั่วทางการกระทำ มี 3 อย่าง คือ –

(1) ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์

(2) อทินนาทาน ลักทรัพย์

(3) กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

(๒) วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา, ประพฤติชั่วทางคำพูด มี 4 อย่าง คือ –

(1) มุสาวาท พูดเท็จ

(2) ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด

(3) ผรุสวาจา พูดคำหยาบ

(4) สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

(๓) มโนทุจริต ความประพฤติชั่วด้วยใจ, ความทุจริตทางความคิด มี 3 อย่าง คือ –

(1) อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้จ้องจะเอาของเขา

(2) พยาบาท ความขัดเคืองคิดร้าย

(3) มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม

พุทธภาษิต:

ธมฺมํ  จเร  สุจริตํ

น  ตํ  ทุจฺจริตํ  จเร.

: อย่าเอาธรรมะมาประพฤติผิดๆ

: จะเป็นทุจริตโดยไม่รู้ตัว

#บาลีวันละคำ (925)

29-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *