ทศพร (บาลีวันละคำ 2,072)
ทศพร
กัณฑ์ที่ 1 ในมหาเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์
อ่านว่า ทด-สะ-พอน
ประกอบด้วยคำว่า ทศ + พร
(๑) “ทศ”
บาลีเป็น “ทส” (ทะ-สะ) (บาลี ส เสือ สันสกฤต ศ ศาลา) แปลว่า สิบ (จำนวน 10)
(๒) “พร”
บาลีเป็น “วร” (วะ-ระ) รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + อ ปัจจัย
: วรฺ + อ = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา”
“วร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์, คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นนาม หมายถึง ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)
(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble)
ในที่นี้ “วร” ใช้ในฐานะเป็นนาม
“วร” ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ จึงเป็น “พร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พร : (คำนาม) คําแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล เช่น ให้พร ถวายพระพร, สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ เช่น ขอพร. (ป. วร).”
ทส + วร = ทสวร (ทะ-สะ-วะ-ระ) แปลว่า “พรสิบประการ”
“ทสวร” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทศพร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทศพร : (คำนาม) พร ๑๐ ประการ, ชื่อกัณฑ์ที่ ๑ ของมหาชาติ ว่าด้วยพร ๑๐ ประการ.”
ขยายความ :
“ทศพร” เป็นชื่อกัณฑ์แรกของมหาเวสสันดรชาดก (ที่ในพจนานุกรมฯ เรียกว่า “มหาชาติ”) ซึ่งแบ่งเรื่องออกเป็น 13 กัณฑ์
ในคัมภีร์ชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1045-1050 หน้า 365-366) เรียกชื่อกัณฑ์นี้ว่า “ทสวรคาถา” (ดูภาพประกอบ)
เรื่องราวในกัณฑ์ “ทศพร” ว่าด้วยผุสดีเทพกัญญาซึ่งสถิตในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทูลขอพร 10 ประการจากพระอินทร์ผู้เป็นจอมเทพก่อนที่จะจุติลงมาเกิดในโลกมนุษย์
พร 10 ประการมีรายละเอียดดังนี้ –
(คำบาลีจากคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา ภาค 10 หน้า 395-396
ภาษาไทยจากร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
……..
สิวิราชสฺส อคฺคมเหสีภาโว ปฐโม วโร.
พรข้อที่ 1 ขอให้ข้าไปบังเกิดในปราสาท แห่งพระเจ้าสีวิราชอันทรงศักดิ์ มีพระราชอาณาจักรปกแผ่ไปในสกลชมพูทวีปให้หมู่ประชาชนอยู่เป็นสุขสำราญเกษมสานติ์ชื่นชม
นีลเนตฺตตา ทุติโย วโร.
พรข้อที่ 2 ขอให้ข้ามีดวงเนตรทั้งสองดำเป็นสี เหมือนหนึ่งตามฤคีลูกเนื้อทราย อันเกิดได้ขวบปีปลายเป็นกำหนด
นีลภมุกตา ตติโย วโร.
พรข้อที่ 3 อนึ่งเล่าขอให้ขนคิ้วข้าเขียวดูงามขำบริสุทธิ์ เป็นสีระยับดุจสร้อยคอมยุรยูงงาม
ผุสฺสตีติ นามํ จตุตฺโถ วโร.
พรข้อที่ 4 นามกรข้าพระบาทจงชื่อว่าผุสดี
ปุตฺตปฏิลาโภ ปญฺจโม วโร.
พรข้อที่ 5 ขอให้ข้าพระองค์มีโอรส ทรงพระเกียรติยศยิ่งกว่ากษัตริย์ในสากล ทรงพระราชศรัทธาเพิ่มกุศลแก่หมู่ประชาชนทุกขอบเขตขัณฑสีมาอาณาจักร
อนุนฺนตกุจฺฉิตา ฉฏฺโฐ วโร.
พรข้อที่ 6 เมื่อข้าพระองค์ทรงพระครรภ์พระโอรส อย่าให้ครรภ์ข้าพระบาทปรากฏนูน เหมือนสตรีทั้งมูลดูเวทนา จาปํว ลิขิตํ สมํ ให้มีครรภ์โอรสาดูงามพร้อม เหมือนคันธนูดูละม่อมอันนายช่างฉลาดเหลาเกลี้ยงเกลาพร้อมเสมอสมาน
อลมฺพตฺถนตา สตฺตโม วโร.
พรข้อที่ 7 อนึ่งเล่ายุคลถันทั้งสองของข้าพระบาท เมื่อทรงครรภ์อย่าวิปลาสแปรผันดำปรากฏ แม้พระบวรปิโยรสจะเสวยทุกวันเวลา อย่าคล้อยเคลื่อนเลื่อนลดลงมาจากพระทรวง ให้เต่งตั้งดังประทุมบัวหลวงงามบริสุทธิ์วิเศษเสร็จ
อปลิตภาโว อฏฺฐโม วโร.
พรข้อที่ 8 อนึ่งขอให้เส้นเกศาสีดำขลับสลับสลวยบริสุทธิ์ ประดุจสีปีกแมลงค่อมทอง เป็นมันระยับย่องควรจะทัศนา
สุขุมจฺฉวีภาโว นวโม วโร.
พรข้อที่ 9 ขอให้ผิวเนื้อละเอียดเป็นนวลละอองดังทองคำธรรมชาติ สกลกายใสสะอาดดูผ่องแผ้วหมดราคี
วชฺฌปโมจนสมตฺถตา ทสโม วโร.
พรข้อที่ 10 อนึ่งคนโทษทุจริตอันเข้มขัน จะพินาศด้วยพระราชทัณฑ์ทำลายล้างชีวิต ขอให้ข้าได้เปลื้องปล่อยปลิดให้พ้นตาย ด้วยกำลังยศปริยายปัญญาญาณ
……..
กัณฑ์ที่ ๑ ทสวรคาถา 19 พระคาถา
เพลงประจำกัณฑ์: เพลงสาธุการ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้บำเพ็ญบุญไม่คลายคลอน
: ไม่ต้องคอยขอพรจากใครใด
#บาลีวันละคำ (2,072)
13-2-61