บาลีวันละคำ

ยุทธหัตถี (บาลีวันละคำ 975)

ยุทธหัตถี

(บาลีไทย)

อ่านว่า ยุด-ทะ-หัด-ถี

บาลีเขียน “ยุทฺธหตฺถี” (ยุทฺ- มีจุดใต้ ทฺ, หตฺ- มีจุดใต้ ตฺ)

ประกอบด้วย ยุทฺธ + หตฺถี

(๑) “ยุทฺธ” (ยุด-ทะ)

รากศัพท์มาจาก ยุธฺ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺต เป็น ทฺธ

: ยุธฺ + = ยุธฺต (ธฺต > ทฺธ) = ยุทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “การต่อสู้กัน” หมายถึง สงคราม, การรบ, การต่อสู้ (war, battle, fight)

(๒) “หตฺถี

รากศัพท์มาจาก หตฺถ + อี = หตฺถี แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือ” (คือมีงวง) “สัตว์ที่ประกอบด้วยมือ” หมายถึง ช้าง

คำบาลีที่หมายถึง “ช้าง” ยังมีอีกหลายคำ เช่น :

(1) กรี (กะ-รี) = สัตว์ที่มีมือ (คือมีงวง)

(2) กเรณุ (กะ-เร-นุ) = สัตว์ที่มีมือ คือมีงวง, สัตว์ที่ส่งเสียงร้อง

(3) กุญฺชร (กุน-ชะ-ระ) = ผู้ทำให้ดินเสื่อมสภาพด้วยการทำลายเล่น (หมายความเพียงว่าดินตรงนั้นกระจุยกระจายเพราะถูกเหยียบย่ำ), ผู้ยินดีอยู่บนเนินเขา, ผู้เที่ยวบันลือโกญจนาท

(4) คช (คะ-ชะ) = สัตว์ที่ส่งเสียงคำราม

(5) ทนฺตี (ทัน-ตี) = สัตว์ที่มีงา

(6) ทฺวิป (ทฺวิ-ปะ) = สัตว์ที่ดื่มน้ำสองครั้ง คือด้วยงวงและปาก

(7) ทฺวิรท (ทฺวิ-ระ-ทะ) = สัตว์ที่มีสองงา

(8) นาค (นา-คะ) = สัตว์ที่มองเห็นเป็นเหมือนภูเขา

(9) มาตงค (มา-ตัง-คะ) = สัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โต

(10) วารณ (วา-ระ-นะ) = ผู้ต้านกำลังของปรปักษ์ได้

(11) อิภ (อิ-พะ) = ผู้เดินไปเรื่อยๆ, ผู้ปรารถนาหญ้าอ่อนและน้ำใส

ยุทฺธ + หตฺถี = ยุทฺธหตฺถี > ยุทธหัตถี

คำนี้ถ้าแปลจากหลังมาหน้าตามหลักทั่วไปของบาลี ต้องแปลว่า ช้างเข้าสงคราม, ช้างของนักรบ หรือช้างศึก

แต่ความหมายที่ประสงค์ของคำนี้ต้องการพูดถึงการรบหรือสงครามเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องแปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “การรบด้วยช้าง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ยุทธหัตถี : (คำนาม) การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ เช่น พระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา, การชนช้าง ก็ว่า.”

ข้อสังเกต :

(1) ในคัมภีร์ ไม่พบศัพท์ว่า “ยุทฺธหตฺถี” แต่มีคำว่า “หตฺถิยุทฺธ” (หัด-ถิ-ยุด-ทะ) แปลว่า “การต่อสู้ด้วยช้าง” (combat of elephants) ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ “ยุทธหัตถี” ในภาษาไทย

(2) คำในบาลีที่ใกล้เคียงกับ “ยุทธหัตถี” ของไทย คือคำว่า “โยธหตฺถี” (โย-ทะ-หัด-ถี) แปลว่า ช้างศึก (a war elephant) เป็นคำที่หมายถึง “ช้าง” ไม่ได้หมายถึง “การรบ (ด้วยช้าง)”

(3) คำว่า “ชนช้าง” ควรเทียบกับคำว่า ชนโค ชนไก่ ซึ่งหมายถึงสัตว์กับสัตว์สู้กัน ไม่มีคนเข้าไปร่วมสู้ด้วย แต่ “ชนช้าง” นอกจากช้างกับช้างสู้กันแล้ว คนที่อยู่บนช้างก็ต้องสู้กันด้วย ถ้าเทียบกับขี่ม้ารบกันจะเห็นได้ชัดว่าต่างกันตรงที่คนกับคนสู้กันอย่างเดียว ม้ากับม้าไม่ได้สู้กันเหมือนชนช้าง ชนช้างหรือยุทธหัตถีจึงนับว่าเป็นการรบที่พิเศษ

(4) ในลิลิตตะเลงพ่าย มีคำเรียกการชนช้างว่า “หัสดีรณเรศ” (หัด-สะ-ดี-รน-นะ-เรด) มาจาก หัสดี (ช้าง) + รณ (การรบ) + อีศ (ศัพท์วรรณคดีเรียกว่า “ศ เข้าลิลิต”) ลง อาคมระหว่าง รณ– กับ –อีศ, แผลง อีศ เป็น เอศ

: หัสดี + รณ = หัสดีรณ + + อีศ = หัสดีรณรีศ > หัสดีรณเรศ แปลว่า “การรบด้วยช้าง

หัสดีรณเรศ” จะเป็นคำที่ผูกขึ้นเพื่อเลี่ยงคำว่า “ยุทธหัตถี” หรือเป็นคำที่เกิดก่อนคำว่า “ยุทธหัตถี” เป็นเรื่องที่ควรแก่การศึกษา แต่ต้องนับว่าเป็นคำที่งามทั้งรูป เสียง และความหมาย

———-

เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงได้รับชัยชนะจากการกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี

วันที่เกิดเหตุการณ์ “ยุทธหัตถี” นี้ตามการคำนวณทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2135

———-

: สู้กันซึ่งหน้า ถ้าแม้จะแพ้

: มีเกียรติกว่าชนะด้วยวิธีลอบกัด

———-

(หยิบฉวยคำมาจากโพสต์ของ Nha Chandransu ด้วยความเคารพ)

#บาลีวันละคำ (975) 18-1-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *