บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

นาฬิกาปลุก

————

ก่อนจะมาถึง-กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายกับอาบัติปาราชิก-วันนี้

ใครจำได้บ้างว่า มีเหตุการณ์อะไรนำหน้ามาก่อน

เดินธุดงค์เข้าเมืองบนกลีบดอกไม้

วัดพระธรรมกายเคยจัดกิจกรรมเดินธุดงค์อย่างยิ่งใหญ่มาแล้ว

ฝ่ายการตลาดคงจะประเมินผลแล้วว่า-กำไรมหาศาล

(ก็เหมือนกับกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์หมื่นรูปที่ตระเวนจัดไปตามจังหวัดต่างๆ

รวมทั้งที่ราชบุรีบ้านผม

จัดแต่ละที กำไรมหาศาล)

แต่คราวนี้เสียง “เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา” ดังกระหึ่มเมือง

ป่านนี้ฝ่ายการตลาดของวัดพระธรรมกายคงสรุปผลได้แล้วว่าธุดงค์คราวนี้กำไรหรือขาดทุน

พอกิจกรรมธุดงค์ร้อนๆ จบลง 

กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายกับอาบัติปาราชิกก็ปะทุขึ้น

กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายกับอาบัติปาราชิกนี้ นักวิจารณ์ส่วนมากบอกว่าเป็น “แผนสะกัดดาวรุ่ง” ของบางฝ่ายที่จ้องหาจังหวะอยู่แล้ว

ผมว่าถ้าจะเป็นแผนอะไรของใครจริงละก็ วัดพระธรรมกายนั่นเองที่เป็นฝ่าย “เปิดจังหวะ” ขึ้นมาเอง

————–

ถามว่า ฝ่ายวิชาการของวัดพระธรรมกายไม่รู้หรือว่า ธุดงค์ในพระพุทธศาสนานั้นคือทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร ?

ตอบว่า ทำไมจะไม่รู้ 

รู้อย่างยิ่งที่เดียวแหละ

วัดพระธรรมกายมีเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นกระบุง

เปรียญธรรม ๙ ประโยคต้องศึกษาเรื่องธุดงค์ในคัมภีร์มาแล้วทั้งสิ้น

ทั้งแปลมคธเป็นไทยเมื่อตอนเรียน ป.ธ.๘

และแปลไทยเป็นมคธเมื่อเรียน ป.ธ.๙

ประชาชนทั่วไปต่างหากที่ไม่รู้ว่า ธุดงค์ในพระพุทธศาสนานั้นคือทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร ?

แต่แทนที่วัดพระธรรมกายจะใช้ศักยภาพของตนเอื้ออำนวยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน 

กลับใช้ธุดงค์เป็น “จุดขาย” โดยอาศัยความไม่รู้ของประชาชนนั่นเองเป็นปุ๋ยอันโอชะ

ดังจะเห็นได้ว่า ในท่ามกลางเสียง “เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา” นั่นเอง ก็ยังมีเสียงที่เปล่งออกมาด้วยศรัทธาที่เต็มเปี่ยมว่า 

“การได้เห็นพระเดินเข้ามาในเมืองเช่นนี้ไม่นับว่าเป็นบุญดอกหรือ”

วัดพระธรรมกายต้องการแค่ “ศรัทธา” คือเห็นพระเดินธุดงค์เข้ามาในเมืองก็เป็นบุญเท่านั้น 

แต่ไม่ต้องการให้ประชาชนเกิด “ปัญญา” เข้าใจถูกต้องว่าธุดงค์ในพระพุทธศาสนานั้นคือทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร ?

————–

ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่งจากญาติมิตรที่มีน้ำใจส่งมาให้

หนังสือชื่อ “ธุดงค์ ทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร ?”

เป็นหนังสือที่ถอดจากบทสัมภาษณ์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ออกมาเป็นธรรมทานเพื่อการศึกษาธรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี่เอง

เป็นหนังสือเล่มบางๆ นับแผ่นกระดาษรวมทั้งปกด้วยได้ ๑๔ แผ่น ( = ๒๘ หน้า) เท่านั้น 

แต่คุณค่าหนาแน่นนักหนา ให้ความรู้เรื่องธุดงค์ได้อย่างกระชับ ชัดเจน

จัดกิจกรรมเดินธุดงค์ลงทุนมหาศาล 

หวังหยิบกำไรที่มหาศาลยิ่งกว่า 

แต่ประชาชนยังเขลาในเรื่องธุดงค์เหมือนเดิม

หนังสือเล่มนี้ต้นทุนน่าจะไม่เกินเล่มละ ๒๐บาท 

แต่อ่านแล้วได้ปัญญามหาศาล

ขออนุญาตคัดบทสุดท้ายมาปลุกสติปัญญาเป็นอภินันทนาการแก่ญาติมิตรทั้งปวง

อยากอ่านเล่มเต็มๆ ติดต่อไปที่วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ๗๓๒๑๐ หรือ http://www.watnyanaves.net

อย่าขอมาที่ผมนะครับ เพราะผมมีเล่มเดียว

————–

บทสุดท้าย

————–

นาฬิกาปลุกดังเกร๊งกร๊าง

ตื่นขึ้นมา ตาสว่าง เดินถูกทางกันเสียที

ธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติตามสมัครใจ ที่ทำได้ยากมากบ้างยากน้อยบ้าง แต่ก็มีพระที่ใจเข้มแข็งสมาทานถือสืบกันมาจนแน่นแฟ้น เข้าอยู่ในวิถีชีวิต เป็นความรู้ความเข้าใจสามัญในสังคมไทย

แต่น่าแปลกใจว่า เวลานี้ คนไทยชาวพุทธมากหลายจนเรียกได้ว่าทั่วๆ ไป แม้กระทั่งชาวบ้านพื้นถิ่นก็ไม่รู้จักพอที่จะมองออกได้ว่าธุดงค์คืออย่างไร พากันตื่นเต้นไปกับปรากฏการณ์วูบวาบแวววาว แล้วก็ไขว้เขวสับสนกันไป

นี่เป็นสัญญาณที่เตือนอย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาของคนไทย มีสภาพเป็นอย่างไร คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน ผุกร่อนเลือนราง หรือว่าไปกันถึงแค่ไหน ควรจะปฏิบัติหรือจัดการให้เป็นอย่างไร

มองในแง่ดี ปรากฏการณ์เป็นเรื่องเป็นราวครึกโครมอื้อฉาวที่โด่งดังเด่นขึ้นมา เป็นอาการที่ผู้ทำนั้นท่านช่วยกระตุกหรือกระแทกกระทุ้งให้คนไทยสะดุ้งตื่น หรือแม้แต่ตระหนกตกใจขึ้นมา ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดความสนใจใส่ใจที่จะแก้ไขกันให้จริงจัง มิฉะนั้น ก็จะไม่ตื่นขึ้นมาจากความหลับไหล ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรให้เป็นสาระชิ้นอัน

ถ้ามองอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าดีแล้ว ที่มีเรื่องแรงร้ายน่าตระหนกตกใจมาทำให้ตระหนักรู้ อะไรที่ตูมตามให้ตื่นเต้น แต่ช่วยปลุกให้ลุกขึ้นมาศึกษาหาความรู้กันให้เท่าทันเข้าใจ ที่จะตัดสินได้ด้วยตนเอง แล้วช่วยกันแก้ไข ชวนกันประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป ก็เป็นอันถือได้ว่านั่นก็ดี

จะจบเล่มลงท้าย จึงนำเอาหลักความรู้เรื่อง “ธุดงค์” มาบอกกันไว้จาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ยาวถึง ๔ หน้า จัดได้ว่าเป็นภาคผนวก นับว่าไม่น้อย เรื่องธุดงค์ รู้เท่านี้น่าจะพอทีหนึ่งก่อน

………..

จากหนังสือ

ธุดงค์ ทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร?

โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

พิมพ์ครั้งที่ ๑ – ก.พ.๒๕๕๘

————–

คุณตรีรัตน์ ปิ่นประยงค์ ส่งมาให้

————–

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

 ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *