บาลีวันละคำ

อักโกสวัตถุ (บาลีวันละคำ 2,292)

อักโกสวัตถุ

คำด่าของผู้ดี

อ่านว่า อัก-โก-สะ-วัด-ถุ

ประกอบด้วยคำว่า อักโกส + วัตถุ

(๑) “อักโกส

บาลีเขียน “อกฺโกส” (อัก-โก-สะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กุสฺ (ธาตุ = ด่า) + ปัจจัย, รัสสะ อา เป็น อะ (อา > ), ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อา > + กฺ + กุสฺ), แผลง อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุสฺ > โกส)

: อา > + กฺ + กุสฺ = อกฺกุสฺ + = อกฺกุส > อกฺโกส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การด่าอย่างยิ่ง” หมายถึง ตะโกนว่า, ด่าทอ, ดูถูก, หมิ่นประมาท, เหยียดหยาม (shouting at, abuse, insult, reproach, reviling)

(๒) “วัตถุ

บาลีเขียน “วตฺถุ” (วัด-ถุ) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)

: วสฺ > + รตฺถุ > ตฺถุ : + ตฺถุ = วตฺถุ แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่

วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)

(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)

(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)

(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)

(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)

(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)

ในที่นี้ “วตฺถุ” ใช้ตามความหมายในข้อ (5) และ (6)

อกฺโกส + วตฺถุ = อกฺโกสวตฺถุ > อักโกสวัตถุ แปลว่า “หัวข้อเพื่อการด่า” หมายถึง วัตถุสำหรับด่า, การใช้คำด่า (base of abuse, expression of cursing)

อักโกสวัตถุ” ในคัมภีร์กำหนดจำนวนไว้ 10 เรื่องเสมอ (10 bases of abuse, 10 expressions of cursing)

ขยายความ :

อักโกสวัตถุ” คือหัวข้อเรื่องที่ยกขึ้นมาด่ากัน จัดเป็นชุดคำด่าสำเร็จรูปที่ปรากฏในสังคมพระสงฆ์สมัยพุทธกาล มีดังนี้ –

(1) ชาติ = ชาติกำเนิด (ตามค่านิยมเรื่องวรรณะของชาวชมพูทวีป) เทียบกับสังคมไทย อาจคล้ายกับที่สมัยหนึ่งเราใช้คำพูดว่า “ลูกเจ๊ก” เมื่อเรียกคนเชื้อสายจีน หรือเวลานี้เราเอ่ยถึง “เด็กกะเหรี่ยง”

(2) นาม = ชื่อ เช่นดูถูกกันว่า ชื่อบ้านนอก ชื่อโหล

(3) โคตฺต = วงศ์ตระกูล เช่นด่าว่า ไอ้ลูกคนเก็บขยะ ลูกกะหรี่

(4) กมฺม = อาชีพ การงาน เช่น ไอ้พวกกรรมกร พวกหาเช้ากินค่ำ

(5) สิปฺป = ความรู้, การศึกษา เช่น ไอ้คนไม่มีการศึกษา

(6) อาพาธ = โรค, อาการเจ็บป่วย เช่น ไอ้ขี้เรื้อน ไอ้มะเร็งแดก

(7) ลิงฺค = รูปร่างหน้าตา ความอัปลักษณ์ในตัวคน

(8) กิเลส = นิสัยใจคอที่ไม่ดี เช่น โลภมาก ขี้โกรธ หูเบา

(9) อาปตฺติ = การทำผิด เช่น เคยประพฤติชั่วอย่างนั้นๆ ถ้าเป็นชาวบ้านก็ด่าว่าไอ้ขี้คุกเป็นต้น

(10) อกฺโกส = คำสบประมาทอย่างอื่นๆ รวมทั้งคำแดกดันต่างๆ การให้อวัยวะเพศก็อยู่ในข้อนี้

อักโกสวัตถุ” หรือชุดคำด่าสำเร็จรูปของประชาชนทั่วไปอีกชุดหนึ่ง มีดังนี้ –

(๑) โจโรสิ = ไอ้โจร

(๒) พาโลสิ = ไอ้โง่

(๓) มุโฬฺหสิ = ไอ้ทึ่ม, ไอ้บ้า

(๔) เถโนสิ = ไอ้หัวขโมย

(๕) โอฏฺโฐสิ = ไอ้อูฐ

(๖) โคโณสิ = ไอ้โค (ความหมายเหมือน ไอ้ควาย)

(๗) คทฺรโภสิ = ไอ้ลา

(๘) เนรยิโกสิ = ไอ้สัตว์นรก

๙) ติรจฺฉานคโตสิ = ไอ้เดรฉาน (ความหมายเหมือน ไอ้ชาติหมา)

(๑๐) นตฺถิ ตุยฺหํ สุคติ, ทุคฺคติเยว ตุยฺหํ ปาฏิกงฺขา = ไอ้พวกไม่ตายดี ตกนรกไม่ผุดไม่เกิด

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนด่า ถูกไฟคือโทสะแผดเผาหัวใจก่อน

คำด่า ตัวเองก็ได้ยินก่อน

ดังนั้น –

: ด่าเขา

: คือด่าเราเอง

#บาลีวันละคำ (2,292)

21-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *