บาลีวันละคำ

วชิร – หมายถึงอะไรกันแน่ (บาลีวันละคำ 2,529)

วชิรหมายถึงอะไรกันแน่

วชิร” บาลีอ่านว่า วะ-ชิ-ระ รากศัพท์มาจาก วช (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิร ปัจจัย

: วชฺ + อิร = วชิร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไปได้เรื่อย” (คือไม่มีอะไรขัดขวางการไปได้) (2) “สิ่งที่ไปอย่างไม่มีอะไรขัดขวาง

ตามคำแปลตามศัพท์ “วชิร” หมายถึง สายฟ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บคำว่า “วชิร” (vajira) ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) vajira1 : a thunderbolt; usually with ref. to Sakka’s [=Indra’s] weapon (อสนีบาต, ตามปกติเกี่ยวถึงอาวุธของท้าวสักกะ [พระอินทร์])

(2) vajira2 : a diamond (เพชร)

สรุปว่า “วชิร” ในภาษาบาลีหมายถึง –

(1) อสนีบาต หรือสายฟ้า (a thunderbolt) ซึ่งถือว่าเป็น “อาวุธพระอินทร์”

(2) แก้วที่แข็งที่สุดและมีนํ้าแวววาวมากกว่าพลอยอื่นๆ นั่นคือที่เราเรียกในภาษาไทยว่า “เพชร” (diamond)

บาลี “วชิร” สันสกฤตเป็น “วชฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วชฺร : (คำวิเศษณ์) ‘วัชร,’ แข็ง, อันแทงไม่ทลุตลอด; อันมีง่าม; hard, impenetrable; forked; (คำนาม) – กุลิศ, อศนิ (หรือ อศนี), อศนิบาต; ศรพระอินทร์; เพ็ชร์; เด็กหรือศิษย์; ปรุษศัพท์, ปรุษวาจ; นักษัตรโยคอันหนึ่ง; กุศฆาส, หญ้ากุศะ; a thunder-bolt; the thunder-bolt of Indra; diamond; a child or pupil; harsh language; one of the astronomical Yogas; Kuśa grass.”

จะเห็นว่า “วชฺร” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างว่า “วชิร” ในบาลี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วชิร-, วชิระ : (คำนาม) สายฟ้า; เพชร; อาวุธพระอินทร์. (ป.; ส. วชฺร).”

ข้อควรสังเกต :

ในภาษาบาลี ที่ใด “วชิร” หมายถึง “สายฟ้า” (หรืออาวุธของพระอินทร์) ที่นั้น “วชิร” ย่อมไม่ได้หมายถึง “เพชร

ที่ใด “วชิร” หมายถึง “เพชร” ที่นั้น “วชิร” ย่อมไม่ได้หมายถึง “สายฟ้า

ตัวอย่างเช่น :

– “วชิรปาณี” แปลว่า “ผู้มีสายฟ้าในมือ” (having a thunderbolt in his hand หมายถึงพระอินทร์) จะแปลว่า “ผู้มีเพชรในมือ” ดังนี้ หาได้ไม่

– “วชิรปนฺติ” แปลว่า “แถวแห่งเพชร” (row of diamonds) คือเพชรที่นำมาร้อยเรียงเข้าเป็นสาย จะแปลว่า “แถวแห่งสายฟ้า” ดังนี้ หาได้ไม่

แต่ “วชิร” ที่ใช้เป็นวิสามานยนาม (proper name) เช่นชื่อบุคคลหรือชื่อสถานที่ จะหมายถึง “เพชร” หรือหมายถึง “สายฟ้า” หรือจะให้หมายถึงทั้ง “เพชร” และ “สายฟ้า” ในคำเดียวกัน ย่อมเป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้งหรือเจ้าของชื่อนั้นๆ บุคคลทั่วไปจะคิดเอาเองหรือเข้าใจเอาเองไปตามใจชอบนั้นหาควรไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะเป็นเพชรฤๅจะเป็นอสนีบาต

: สุดแต่จิตพิศวาสจะปรารถนา

: แม้นเป็นเพชรยามชมให้ชื่นอุรา

: เป็นสายฟ้ายามฟาดขอให้ขาดกระเด็น

—————

(ตอบข้อกังขาของท่านอาจารย์ดำรงศักดิ์ บุญสู่)

#บาลีวันละคำ (2,529)

16-5-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย