บาลีวันละคำ

มโนมยิทธิ (บาลีวันละคำ 2,293)

มโนมยิทธิ

จิตนี้มีฤทธิ์

อ่านว่า มะ-โน-มะ-ยิด-ทิ

แยกศัพท์เป็น มโนมย + อิทธิ

(๑) “มโนมย” ประกอบด้วย มโน + มย

(ก) “มโน” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มน” (มะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: มน + = มน แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้

(2) มา (ธาตุ =นับ, กะ, ประมาณ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ลบสระที่สุดธาตุ

: มา > + ยุ > อน : + อน = มน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กำหนดนับอารมณ์

มน” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) หมายถึง ใจ, ความคิด (mind, thought)

(ข) “มย” (มะ-ยะ) นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)

(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)

(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)

(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)

(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)

(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)

กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ

มน > มโน + มย = มโนมย (มะ-โน-มะ-ยะ) คำแปลสามัญคือ “สำเร็จด้วยใจ” หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจจิต คือใช้พลังจิตทำให้เกิดขึ้น (made of mind, consisting of mind, formed by the magic power of the mind, magically formed)

หมายเหตุ :

มน” เป็นศัพท์พิเศษที่เรียกว่า “มโนคณศัพท์” (มะ-โน-คะ-นะ-สับ) แปลว่า “ศัพท์ในกลุ่มของ มน” ในบาลีไวยากรณ์ท่านแสดงไว้ 12 ศัพท์ ดังนี้ –

มน (มะ-นะ) = ใจ

อย (อะ-ยะ) = เหล็ก

อุร (อุ-ระ) = อก

เจต (เจ-ตะ) = ใจ

ตป (ตะ-ปะ) = ความร้อน

ตม (ตะ-มะ) = มืด

เตช (เต-ชะ) = เดช

ปย (ปะ-ยะ) = น้ำนม

ยส (ยะ-สะ) = ยศ

วจ (วะ-จะ) = วาจา

วย (วะ-ยะ) = วัย

สิร (สิ-ระ) = หัว

มโนคณศัพท์” มีกฎว่า เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ให้แปลง อะ ที่สุดศัพท์เป็น โอ เช่น มน + รม แทนที่จะเป็น “มนรม” ท่านให้แปลง อะ ที่ (ม)- เป็น โอ (มน > มโน) จึงเป็น “มโนรม

ในที่นี้ มน + มย แทนที่จะเป็น “มนมย” ก็เป็น “มโนมย

(๒) “อิทธิ

บาลีเขียน “อิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า อิด-ทิ รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ

: อิธ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ

ความหมายสามัญที่เข้าใจกัน “อิทฺธิ” หมายถึง ความสำเร็จ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงทัศนะต่อคำว่า “อิทฺธิ” ไว้ว่า –

There is no single word in English for Iddhi, as the idea is unknown in Europe. The main sense seems to be ʻ potency ʼ

ไม่มีคำในภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายของคำว่า “อิทฺธิ” ได้ชัดเจนแม้สักคำเดียว, ความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่รู้จักในยุโรป. ความหมายหลักดูเหมือนจะเป็น potency อานุภาพหรืออำนาจ

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปล “อิทฺธิ” ไว้คำหนึ่งว่า psychic powers (ฤทธิ์ทางใจ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อิทธิ” เป็นอังกฤษว่า

Iddhi : success; supernormal power; psychic power; magical power.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม. (ป.; ส. ฤทฺธิ).”

มโนมย + อิทธิ = มโนมยิทธิ แปลตามศัพท์ “ฤทธิ์อันสำเร็จด้วยใจ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “มโนมยิทธิ” เป็นอังกฤษดังนี้ –

Manomayiddhi : the magic power of the mind; mind-made magical power.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “มโนมยิทธิ” ไว้ดังนี้ –

มโนมยิทธิ : ฤทธิ์ทางใจ คือนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ได้ เหมือนชักดาบออกจากฝัก หรืองูออกจากคราบ (ข้อ ๒ ในวิชชา ๘).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [297] แสดง “วิชชา 8” ไว้ดังนี้ –

…………..

[297] วิชชา 8 : ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ (Vijjā: supernormal knowledge)

1. วิปัสสนาญาณ : ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่เป็นวิปัสสนา คือปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารคือนามรูปโดยไตรลักษณ์ มีต่างกันออกไปเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกัน (Vipassanāñāṇa: insightknowledge)

2. มโนมยิทธิ : ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรือชักงูออกจากคราบ (Manomayiddhi: mind-made magical power)

3. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ : แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ (Iddhividhā: supernormal powers)

4. ทิพพโสต : หูทิพย์ (Dibbasota: divine ear)

5. เจโตปริยญาณ : ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้ (Cetopariyañāṇa: penetration of the minds of others)

6. ปุพเพนิวาสานุสสติ : ระลึกชาติได้ (Pubbenivāsānussati: remembrance of former existences)

7. ทิพพจักขุ : ตาทิพย์ (Dibbacakkhu: divine eye)

8. อาสวักขยญาณ : ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ (Āsavakkhayañāṇa: knowledge of the exhaustion of mental intexicants)

…………..

สรุปว่า “มโนมยิทธิ” ฤทธิ์ทางใจ ท่านให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึงสามารถนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ได้ และรูปนิรมิตจะมีลักษณะเหมือนกับรูปจริงทุกประการ

ในคัมภีร์มีเรื่องพระเถระชื่อจูฬปันถก ท่านอยู่ในวัดองค์เดียว มีคนเข้าไปนิมนต์พระ เห็นพระจูฬปันถกอยู่ในวัดนั้นตั้ง 1,000 องค์ นี่คือตัวอย่างของ “มโนมยิทธิ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใจสกปรก

: ยิ่งมีฤทธิ์ก็ยิ่งไปนรกได้เร็วขึ้น

————–

(ตามคำขอของ Mind Inventive)

#บาลีวันละคำ (2,293)

22-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย