บาลีวันละคำ

ไถยสังวาสก์ (บาลีวันละคำ 2,291)

ไถยสังวาสก์

แปลกหน้า แต่มีมานาน

อ่านว่า ไถ-ยะ-สัง-วาด

ประกอบด้วยคำว่า ไถย + สังวาสก์

(๑) “ไถย” (ไถ-ยะ-)

บาลีเป็น “เถยฺย” (เถย-ยะ) รากศัพท์มาจาก เถน + ณฺย ปัจจัย

(1) “เถน” อ่านว่า เถ-นะ รากศัพท์มาจาก เถนฺ (ธาตุ = ลัก, ขโมย) + ปัจจัย

: เถนฺ + = เถน (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ลักขโมย

เถน” เป็นคำนาม หมายถึง คนขโมย (a thief) เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ขโมย (stealing)

(2) เถน (คนขโมย) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ที่สุดศัพท์ (เถน > เถ) และลบ ที่ ณฺย (ณฺย > ), ซ้อน ยฺ ( > ยฺย)

: เถนฺ > เถ + ณฺย > = เถย > เถยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำของขโมย” “ภาวะแห่งขโมย” หมายถึง การขโมย (theft)

เถยฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไถย-” (ไถ-ยะ-) (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไถย– : (คำนาม) ความเป็นขโมย เช่น ไถยจิต. (ป. เถยฺย).”

(๒) “สังวาสก์” (-วาสก์ มี –ก์)

บาลีเป็น “สํวาสก” (สัง-วา-สะ-กะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ, เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ วฺ-(สฺ) เป็น อา (วสฺ > วาส)

: สํ + วสฺ = สํวส + ณฺวุ > อก = สํวสก > สํวาสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ร่วมกัน” “ผู้อยู่ด้วยกัน

สํวาสก” มีรากศัพท์เดียวกับ “สํวาส” (สัง-วา-สะ) หรือ “สังวาส” ที่เราคุ้นกันดีนั่นเอง ต่างกันที่ “สํวาส” (ปุงลิงค์)  เป็นคำนาม (อาการนามหรือภาวนาม) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การอยู่ด้วยกัน, การอยู่ร่วมกัน (living with, co-residence)

(2) ความสนิทสนม (intimacy)

(3) การอยู่กินด้วยกัน, การร่วมประเวณี (cohabitation, sexual intercourse)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังวาส : (คำนาม) การอยู่ด้วยกัน, การอยู่ร่วมกัน; การร่วมประเวณี. (คำกริยา) ร่วมประเวณี, มักใช้ว่า ร่วมสังวาส หรือ เสพสังวาส. (ป., ส. สํวาส).”

ส่วน “สํวาสก” เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ผู้-หรือสิ่งที่อยู่ด้วยกัน (living together)

เถยฺย + สํวาสก = เถยฺยสํวาสก (เถย-ยะ-สัง-วา-สะ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ร่วมกันโดยอาการแห่งขโมย” หมายถึง ผู้เข้ามาอยู่ในแวดวงสงฆ์อย่างไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เถยฺยสํวาสก” ว่า one who lives clandestinely with the bhikkhus (ผู้ปลอมตัวอยู่ร่วมกับภิกษุ)

เถยฺยสํวาสก” เขียนแบบไทยเป็น “ไถยสังวาสก์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ไถยสังวาส” (-วาส ไม่มี –ก์) บอกไว้ว่า –

ไถยสังวาส : (คำนาม) การทำหรือการแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่นคฤหัสถ์แต่งตัวปลอมเพศเป็นสมณะ ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง. (ป. เถยฺยสํวาส).”

คำว่า “ไถยสังวาสก์” (-วาสก์ มี –ก์) ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

คำว่า “เถยฺยสํวาสก” > ไถยสังวาสก์ พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทยแปลว่า “คนลักเพศ” (-ลัก-กะ-เพด)

คัมภีร์อรรถกถาขยายความไว้ว่า “ไถยสังวาสก์” มี 3 ประเภท คือ –

(1) ลิงคเถนก์ (ลิง-คะ-เถน) = “คนขโมยเพศ” หมายถึง ชาวบ้านธรรมดา โกนผมห่มเหลืองเอาเอง ให้คนเข้าใจว่าเป็นพระ แต่ไม่อยู่วัดร่วมกับพระจริง อาจปลีกตัวไปอยู่คนเดียว ตั้งตัวเป็นเกจิตามลำพัง

พวกที่นุ่งห่มจีวรเฉพาะตอนออกไปบิณฑบาต กลับเข้าบ้านแล้วเปลื้องจีวรออกเป็นคนธรรมดา อยู่ในประเภทนี้

(2) สังวาสเถนก์ (สัง-วา-สะ-เถน) = “คนขโมยสังวาส” หมายถึง ผู้ที่บวชเป็นสามเณร (บวชจริง) แล้วไปอยู่ต่างถิ่นที่ไม่มีใครรู้จัก ไปแสดงตัวเป็นพระ อยู่ร่วมกับพระจริง ร่วมสังฆกรรมต่างๆ เหมือนเป็นพระทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นเพียงสามเณร

โปรดสังเกตว่า ประเภทนี้ท่านไม่เรียกว่า “คนขโมยเพศ” เพราะมีเพศเป็นนักบวชจริง เพียงแต่ไป “ขโมยสังวาส” คือไปใช้สิทธิ์เป็นพระทั้งที่ตัวเองเป็นสามเณร

(3) อุภยเถนก์ (อุ-พะ-ยะ-เถน) = “คนขโมยทั้งสอง” หมายถึง ชาวบ้านธรรมดา โกนผมห่มเหลืองเอาเอง (ขโมยเพศ) และไปอยู่ร่วมกับพระจริงที่วัด ร่วมสังฆกรรมต่างๆ ใช้สิทธิ์ต่างๆ เหมือนเป็นพระ (ขโมยสังวาส)

บุคคลที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ ท่านเรียกว่า “ไถยสังวาสก์” = “ผู้อยู่ร่วมกับสงฆ์โดยอาการแห่งขโมย” คือ ผู้เข้ามาอยู่ในแวดวงสงฆ์อย่างไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ไถยสังวาสก์” เป็นคำที่เราไม่ค่อยคุ้น แต่คนที่มีพฤติการณ์เช่นนี้มีมานานแล้ว ยังมีอยู่ และนับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

วิธีป้องกัน คือระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ด้วยการศึกษาให้รู้เท่าทัน และโปรดระลึกไว้เสมอๆ ว่า ศรัทธาที่ขาดปัญญากำกับคือเหยื่อและปุ๋ยอันโอชะของคนจำพวกนี้

วิธีแก้ไข ในสังคมไทยนับว่าหมดหวังที่แก้ เพราะผู้บริหารการพระศาสนามีความรับผิดชอบน้อยเกินไป และธรรมดาของคนจำพวกนี้ยากนักที่จะสำนึกบาปได้ด้วยตัวเอง

…………..

บาลีวันละคำชุด:-

: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา

: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย

…………..

ดูก่อนภราดา!

ผู้ที่ทำผิดแล้วแสดงความสำนึกผิด —

: ได้รับความอายเพียงน้อยนิดชั่วดีดนิ้วมือ

: แต่จะได้รับความนับถือไปชั่วกาลนาน

#บาลีวันละคำ (2,291)

20-9-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย