โลโกปตฺถมฺภิกา (บาลีวันละคำ 2,845)
โลโกปตฺถมฺภิกา
เรียนภาษาจากธรรมะ
อ่านว่า โล-โก-ปัด-ถำ-พิ-กา
คำว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา” ไม่ใช่แยกศัพท์เป็น โลโก + ปตฺถมฺภิกา อย่างที่ตาเห็น
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเรียนนักธรรมชั้นตรี เคยท่อง “กระทู้” ในหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 บทหนึ่งว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา” แปลว่า “เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก”
ตอนนั้นมีความเข้าใจว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา” มาจากคำว่า โลโก + ปตฺถมฺภิกา เวลาท่องก็นึกเห็นคำว่า “โลโก” เด่นขึ้นมา และรู้แบบเดาๆ เอาว่า “โลโก” แปลว่า “โลก”
แต่พอมาเรียนบาลีจึงรู้ว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา” แยกศัพท์เป็น โลก + อุปตฺถมฺภิกา ไม่ใช่ โลโก + ปตฺถมฺภิกา อย่างที่เคยเข้าใจผิดๆ
เรียนภาษา :
(๑) “โลก” บาลี (ปุงลิงค์) อ่านว่า โล-กะ
(ก) ในแง่ภาษา
(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ
: ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + อ ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่”
(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อ ปัจจัย
: โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”
(ข) ในแง่ความหมาย
(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”
(๒) “อุปตฺถมฺภิกา”
อ่านว่า อุ-ปัด-ถำ-พิ-กา รากศัพท์มาจาก อุปตฺถมฺภ + อิกา
(ก) “อุปตฺถมฺภ” รากศัพท์มาจาก –
(1) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ถมฺภฺ (ธาตุ = ผูกติด) + อ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ตฺ + ถมฺภ)
: อุป + ตฺ + ถมฺภ = อุปตฺถมฺภ + อ = อุปตฺถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปผูกติดไว้”
(2) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺภ ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุป + ตฺ + ธรฺ), แปลง ธ ที่ ธ-(รฺ) เป็น ถ, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺภ > มฺภ)
: อุป + ตฺ + ธรฺ > ถรฺ = อุปตฺถร + รมฺภ = อุปตฺถรรมฺภ > อุปตฺถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปรองรับไว้”
(3) อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ถมฺภ (เสา), ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับ ถมฺภ (อุป + ตฺ + ถมฺภ)
: อุป + ตฺ + ถมฺภ = อุปตฺถมฺภ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปเป็นเสา”
ในขั้นที่เป็น “อุปตฺถมฺภ” (ปุงลิงค์) หมายถึง –
(1) การอุปถัมภ์, การส่งเสริม, การค้ำจุน (a support, prop, stay)
(2) การปลดเปลื้อง, การปล่อยทุกข์ (relief, ease)
(3) การให้กำลังใจ (encouragement)
(ข) อุปตฺถมฺภ + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: อุปตฺถมฺภ + ณฺวุ > อก = อุปตฺถมฺภก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อุปถัมภ์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปตฺถมฺภก” ว่า holding up, supporting, sustaining (ยกขึ้นไว้, อุดหนุน, ค้ำจุน, บำรุง)
“อุปตฺถมฺภก” ในภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “อุปถัมภก” (อุ-ปะ-ถำ-พก) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปถัมภก : (คำนาม) ผู้คํ้าจุน, ผู้ค้ำชู, ผู้สนับสนุน, ผู้เลี้ยงดู. (ป. อุปตฺถมฺภก; ส. อุปสฺตมฺภก).”
(ค) อุปตฺถมฺภก ลง อิ อาคมหน้า อก (อุปตฺถมฺภ + อิ + อก) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: อุปตฺถมฺภ + อิ + อก = อุปตฺถมฺภิก + อา = อุปตฺถมฺภิกา
โลก + อุปตฺถมฺภิกา แผลง อุ เป็น โอ
: โลก + อุปตฺถมฺภิกา = โลกุปตฺถมฺภิกา > โลโกปตฺถมฺภิกา
คำว่า “+ อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์” หมายความว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา” เป็นอิตถีลิงค์
ทำไมจึงต้องเป็นอิตถีลิงค์?
ก็เพราะศัพท์นี้เป็นคำขยาย (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่าเป็น “วิเสสนะ”) ของคำว่า “เมตฺตา” ดังคำเต็มๆว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา”
คำว่า “เมตฺตา” เป็นอิตถีลิงค์ คำที่มาขยายจึงต้องเป็นอิตถีลิงค์ด้วย ตามสูตรที่ว่า “วิเสสนะต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนบทที่ตนขยาย”
เรียนธรรมะ :
คำบาลีว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา” นี้ ไม่มีในพระไตรปิฎก หมายความว่า คำนี้ไม่ใช่พระพุทธพจน์โดยตรง
ถ้าดูในหนังสือพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม 1 จะพบว่า กระทู้ “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา” นี้บอกที่มาไว้ว่า “ว. ว.” ซึ่งย่อมาจาก “วชิรญาณวโรรส” หมายถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นั่นคือ ภาษิตที่ว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา” นี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นทรงศึกษาเมตตานิสังสสูตรในพระไตรปิฎกแล้วได้สรุปเป็นข้อความสั้นๆ ว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตตา” แปลว่า “เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก”
คำว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา” นี้ แม้จะไม่ใช่พระพุทธพจน์โดยตรง แต่ก็เป็นคำที่สรุปมาจากพระพุทธพจน์ มีความหมายสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ จึงนับเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ที่สำคัญคือเป็นคำที่แสดงความจริง สังคมโลกที่ยังไม่ล่มสลายแหลกลาญไปในวันนี้ก็เพราะยังมีเมตตาธรรมค้ำจุนไว้นั่นเอง
ยิ่งในยามลำบากยากเข็ญหรือในคราวคับขันด้วยแล้ว เมตตาธรรมยิ่งจำเป็นที่สุด
ในยามที่โลกวิกฤตคับขัน โลกไม่ได้ต้องการเฉพาะคนฉลาดที่สุดหรือคนกล้าที่สุดเท่านั้น แต่โลกยังต้องการคนที่มีเมตตาธรรมต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างถึงที่สุดด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าท่านหัวเราะ โลกจะหัวเราะไปกับท่าน
: แต่ถ้าท่านร้องไห้ โลกมักจะปล่อยให้ท่านร้องไปคนเดียว
(จำมาจากหนังสือ “เมื่อปราชญ์พบปราชญ์” ตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร)
#บาลีวันละคำ (2,845)
27-3-63