บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มหุสวาลังการแห่งบาลี

มหุสวาลังการแห่งบาลี

—————————–

เครื่องบันเทิงใจในยามยาก

สองวันมานี้ชอบกล ผมเห็นคนเล่นสนุกกับคำบาลีหลายครั้ง 

เมื่อวานอ่านโพสต์ที่นักเรียนบาลีอภิปรายกันเรื่อง “เต เม โว โน เป็นนักเลงโตไม่ได้”

พูดอย่างนี้ คนไม่เรียนบาลีจะไม่รู้สึกขำอะไรเลย 

แต่คนเรียนบาลีจะขำลึก 

ใครก็ตามที่คิดข้อความนี้ขึ้นมา ต้องถือว่าเป็น “นักเลงบาลีตัวจริง”

ในการเรียงความภาษาบาลี มีกฎหรือหลักยุบยับไปหมด ตามแนวคิดที่ว่า พยัญชนะรักษาอรรถะ 

ถ้าพยัญชนะไม่เพี้ยน อรรถะก็ไม่เพี้ยน

ถ้าพยัญชนะเพี้ยน อรรถะก็เพี้ยน

อย่างเรื่องตลกในภาษาไทยที่ผมเคยเล่าแล้ว

ตำรายาไทย บอกว่าเวลากินให้ปั้นเป็นลูกกลอน “เท่าเม็ดนุ่น”

คัดกันไปคัดกันมา กลายเป็น – ปั้นเป็นลูกกลอน “เท่าเม็ดขนุน”

ภาษาบาลีท่านจึงเข้มงวดกวดขันพยัญชนะมาก เวลาเอาพยัญชนะไปเรียบเรียงเป็นข้อความจะมีกฎเกณฑ์ละเอียดยิบ เพื่อให้มั่นใจว่า- “เม็ดนุ่น” จะไม่กลายเป็น “เม็ดขนุน” 

หนึ่งในกฎเกณฑ์ทั้งหลายก็คือ “เต เม โว โน” ที่แจกวิภัตติมาจาก ตุมฺห-ศัพท์ และ อมฺห-ศัพท์ ห้ามใช้ขึ้นต้นประโยค 

ตุมฺห-ศัพท์ แปลว่า เจ้า ท่าน สู เอ็ง มึง เทียบคำอังกฤษคือ you

อมฺห-ศัพท์ แปลว่า ฉัน ข้า กู เทียบคำอังกฤษคือ I

เต – แจกวิภัตติมาจาก ตุมฺห-ศัพท์ เอกพจน์ แปลว่า “-ของท่าน” = your เช่น “เต อาจริโย” = อาจารย์ของท่าน = your teacher 

เม – แจกวิภัตติมาจาก อมฺห-ศัพท์ เอกพจน์ แปลว่า “-ของฉัน” = my เช่น “เม อาจริโย” = อาจารย์ของฉัน = my teacher

โว – แจกวิภัตติมาจาก ตุมฺห-ศัพท์ พหูพจน์ แปลว่า “-ของพวกท่าน” your เช่น “โว อาจริโย” = อาจารย์ของพวกท่าน your teacher

โน – แจกวิภัตติมาจาก อมฺห-ศัพท์ พหูพจน์ แปลว่า “-ของพวกฉัน” = our เช่น “โน อาจริโย” = อาจารย์ของพวกฉัน, อาจารย์ของพวกเรา = our teacher

“เต เม โว โน” ดังกล่าวนี้แหละห้ามใช้ขึ้นต้นประโยค พูดอีกอย่างหนึ่งว่า “เรียงไว้เป็นที่หนึ่งไม่ได้”

เช่น เริ่มต้นประโยคว่า “เม อาจริโย …” อย่างนี้ไม่ได้ 

ต้องเป็น “อาจริโย เม …” 

จึงเป็นที่มาของคำว่า “เต เม โว โน เป็นนักเลงโตไม่ได้” หมายความว่า เปรียบคำพวกนี้เหมือนคน เวลาเข้าแถว จะไปยืนเป็นหัวแถวไม่ได้ 

ถ้าเป็นพระ เวลาไปกิจนิมนต์ก็เป็นประธานสงฆ์ไม่ได้ อย่างดีก็เป็นแค่คอสอง

“เต เม โว โน เป็นนักเลงโตไม่ได้” – จึงเป็นคำสนุกๆ แต่ก็ช่วยให้จำกฎได้ดี

กฎสนุกๆ แบบนี้คงจะมีทุกภาษา ในภาษาไทยก็มี นึกได้เวลานี้คำหนึ่ง เช่น – “พระไปบิณฑบาตไม่มีเรือ”

หมายความว่า คำว่า “บิณฑบาต” -บาต ไม่ต้องมี ร เรือ

………………..

คำสนุกๆ ที่ได้เห็นผ่านตาอีก ๒ คำ คือ “แปลโดยพยัญชนะ” กับ “บรรพชิต” 

การแปลบาลีตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ เฉพาะประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓ ประโยค กำหนดให้แปล ๒ วิธี คือ “แปลโดยพยัญชนะ” และ “แปลโดยอรรถ”

“แปลโดยพยัญชนะ” คือแปลคำต่อคำ ที่คำฝรั่งว่า word by word 

“แปลโดยอรรถ” คือแปลเอาเฉพาะใจความ

มีเณรน้อยเรียนบาลีถามพระอาจารย์ว่า ทำไมไม่มี “แปลโดยพยัญแพ้” บ้าง

นี่คือเอาคำว่า (พยัญ)-ชนะ ไปเทียบกับ -แพ้

ส่วนคำว่า “บรรพชิต” (บัน-พะ-ชิด) หมายถึงนักบวช เช่นพระภิกษุสามเณร 

ช่วงเวลาที่กำลังเกิดโรคระบาด โควิด-๑๙ คณะสงฆ์แนะนำว่า พระภิกษุสามเณรไม่ควรฉันเป็นวง แต่ควรฉันรูปเดียว คือนั่งห่างๆ กัน 

ก็มีคนอารมณ์ขันบอกว่า เมื่อก่อนเป็นบรรพชิต ตอนนี้ต้องเป็น “บรรพห่าง” 

………………..

อารมณ์ขันเล็กๆ น้อยๆ ที่มีภาษาบาลีเป็นสื่อ คำเก่าท่านเรียกว่าเป็นมหรสพชนิดหนึ่ง คือเป็นเครื่องบันเทิงใจตามทางใครทางมัน ผมอาจจะเล่าไม่สนุก ก็ขออภัยด้วย 

สมัยเป็นเณรเริ่มเรียนบาลี นักเรียนรุ่นพี่ที่มีอารมณ์สุนทรีย์มักเอาคำบาลีมาเล่นสนุกให้ฟังอยู่เนืองๆ เช่น – 

“สพฺพํ” (สับ-พัง) แปลว่า “จอบ” คือสับลงไปตรงไหน พังตรงนั้น

“ปาปํ” (ปา-ปัง) แปลว่า “รั้วสังกะสี” เอาก้อนหินดินฟืนปาลงไป ดัง “ปัง” ทุกที 

“สนฺโต” (สัน-โต) แปลว่า “ขวาน” เพราะด้านสันของขวานจะโตเป็นพิเศษ 

ที่เป็นประโยคก็มี เช่น “โสติง ปะติฏฐะติ โหนดบ้า” 

แปลว่า “สิงโตตั้งอยู่หน้าโบสถ์” (ฮ่า ฮ่า ฮ่า)

มีประโยคที่ครึกครื้นมากๆ นึกไม่ออกว่าจำมาจากรุ่นพี่คนไหน ขอบันทึกไว้กันลืม 

ข้อความเป็นดังนี้ – 

สะหัสสะปืดปึง เอกา รัมมะนา

สะหัสสะตารา เอกา จันโท

สะหัสสะยงโย่ เอกา ไสยา

ใครแปลออก แสดงว่าสุดยอดของนักเลงบาลี 

………………..

ชื่อเรื่อง-มหุสวาลังการแห่งบาลี

อ่านว่า-มะ-หุด-สะ-วา-ลัง-กาน-แห่งบาลี

แปลว่า-เรื่องที่ประดับประดาไว้เป็นความครึกครื้นในวงการบาลี

พอเป็นเครื่องบันเทิงใจในยามยากครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๒:๒๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *