บาลีวันละคำ

คารวสถาน (บาลีวันละคำ 3,203)

คารวสถาน

สถานตรวจวัดความเป็นผู้มีการศึกษา

อ่านว่า คา-ระ-วะ-สะ-ถาน

ประกอบด้วยคำว่า คารว + สถาน

(๑) “คารว

บาลีอ่านว่า คา-ระ-วะ รากศัพท์มาจาก ครุ + ปัจจัย

(ก) “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –

1) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

2) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

(ข) ครุ + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ (ค)-รุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ครุ > คโร > ครว), ทีฆะ อะ ที่ต้นศัพท์ คือ -(รว) เป็น อา ด้วยอำนาจ ปัจจัย (ครว > คารว)

: ครุ + = ครุณ > ครุ > คโร > ครว > คารว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งครุ” หมายถึง การคารวะ, ความเคารพ, ความนับถือ (reverence, respect, esteem); ความยำเกรง, ความนอบน้อม (respect for, reverence towards)

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คารวะ : (คำนาม) ความเคารพ, ความนับถือ. (คำกริยา) แสดงความเคารพ. (ป.).”

คารวะ” ท่านจัดเป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคล 38 ประการ อันเป็นคุณธรรมที่ยังผู้ประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงความสุขความเจริญก้าวหน้า

คารวะ” สำหรับชาวพุทธ โดยเฉพาะภิกษุ มีอะไรบ้าง พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [261] แสดงไว้ดังนี้ –

…………..

คารวะ หรือ คารวตา 6 : ความเคารพ, การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง, การมองเห็นคุณค่าและความสำคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้อง ด้วยความจริงใจ (Gārava, Gāravatā: reverence; esteem; attention; respect; appreciative action)

1. สัตถุคารวตา (ความเคารพในพระศาสดา — reverence for the Master) ข้อนี้บางแห่งเขียนเป็น พุทธคารวตา (ความเคารพในพระพุทธเจ้า — Satthu-gāravatā: reverence for the Buddha)

2. ธัมมคารวตา (ความเคารพในธรรม — Dhamma-gāravatā: reverence for the Dhamma)

3. สังฆคารวตา (ความเคารพในสงฆ์ — Saŋgha-gāravatā: reverence for the Order)

4. สิกขาคารวตา (ความเคารพในการศึกษา — Sikkhā-gāravatā: reverence for the Training)

5. อัปปมาทคารวตา (ความเคารพในความไม่ประมาท — Appamāda-gāravatā: reverence for earnestness)

6. ปฏิสันถารคารวตา (ความเคารพในปฏิสันถาร คือ การต้อนรับปราศรัย — Paṭisanthāra-gāravatā: reverence for hospitality)

ธรรม 6 อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ.

…………..

(๒) “สถาน

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

คารว + สถาน = คารวสถาน

ศัพท์นี้ถ้าเป็นรูปบาลี ก็คือ คารว + ฏฺ + ฐาน = คารวฏฺฐาน (คา-ระ-วัด-ถา-นะ) แปลว่า “ที่ตั้งแห่งความเคารพ” หรือ “ตั้งอยู่ในฐานะควรเคารพ

คำว่า “คารวสถาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

คารวฏฺฐาน” หรือ “คารวสถาน” หมายถึง สถานที่อันควรแก่การแสดงความเคารพ กล่าวคือ เมื่อเข้าไปสู่สถานที่นั้นๆ บุคคลควรแสดงความเคารพตามมรรยาทอันดีงาม

คารวสถาน” ที่เด่นชัดคือศาสนสถาน ชี้เฉพาะในพระพุทธศาสนาก็อย่างเช่น โบสถ์ วิหาร ลานพระสถูปเจดีย์ สถานที่ประดิษฐานพระปฏิมา เหล่านี้รวมเรียกว่า “คารวสถาน

การแสดงความเคารพต่อคารวสถานอาจทำได้ในลักษณะต่างๆ เช่น แต่งกายสุภาพ คือไม่สวมใส่เครื่องแต่งกายที่เปิดเผยอวัยวะอันควรปกปิด หรือเครื่องแต่งกายที่มีรูปแบบไม่ควรแก่สถานที่เช่นนั้น หรือตามที่สถานที่นั้นมีระเบียบหรือคำแนะนำไว้ ไม่สวมหมวก ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่ม ไม่สะพายกระเป๋า ไม่แสดงกิริยาคึกคะนองหรือหยาบโลน ไม่ส่งเสียงเอะอะ เป็นต้น

แค่ไหนอย่างไรจึงจะเป็นการแสดงความเคารพหรือไม่เคารพ อาจตัดสินได้โดยสำนึกที่เกิดจากการได้รับการอบรมสั่งสอนมา ที่เรานิยมใช้คำว่า “คนมีการศึกษา” ซึ่งไม่ได้มีความหมายเพียงแค่รู้หลักวิชาการต่างๆ หรือมีความสามารถในทางต่างๆ หากแต่หมายรวมถึงการรู้จักความควรไม่ควร การรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด สามารถเว้นการควรเว้น ประพฤติการควรประพฤติได้ด้วยตนเอง

ตัวอย่างจากเรื่องจริง :

บริเวณเขตพระมหาธาตุที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี (มักเรียกกันว่า “หน้าพระปรางค์) ก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามาบูรณะ ตรงหน้าวิหารหลวงมีป้ายเล็กๆ ปักไว้ป้ายหนึ่ง ข้อความบนป้ายเป็นดังนี้ –

……………………………………

เขตคารวสถาน

โปรดสำรวมและสุภาพเรียบร้อย

Respected area

Please keep yourself in peace and politeness.

……………………………………

วันหนึ่ง มีฝรั่งชายหญิง 2 คน เป็นนักท่องเที่ยวแบบที่เรียกกันว่า “ซำเหมา” คือค่ำไหนนอนนั่น นุ่งกางเกงขาสั้น สวมหมวก สะพายเป้ เดินเข้ามาเที่ยวชมบริเวณ เมื่อมาถึงหน้าวิหารหลวงและได้เห็นป้ายดังกล่าวนั้นก็หยุดยืนอ่าน พออ่านจบทั้งคู่ก็ปลดเป้จากไหล่วางบนพื้น แล้วคลี่ขากางเกงซึ่งเป็นกางเกงชนิดพับขาสั้นได้ยาวได้ จากกางเกงขาสั้นก็กลายเป็นขายาว แล้วถอดหมวก หิ้วเป้เดินเข้าไปในบริเวณพระระเบียงด้านใน ทั้งคู่ถอดรองเท้าไว้ข้างประตูด้านนอกแล้วจึงเดินเท้าเปล่าเข้าไป

ผู้เขียนบาลีวันละคำอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงได้เห็นการกระทำของเขาทั้งหมด

ภายนอกเขาดูเป็นฝรั่งปอนๆ แต่ภายในเขาเป็น “คนมีการศึกษา

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกคารวะฝรั่งทั้งคู่อยู่เสมอ และขอแสดงความคารวะไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งในฐานะเป็นบุคคลที่รู้ว่าสถานที่ตรงไหนคือ “คารวสถาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เคารพคารวสถาน

: คือการเคารพตัวเอง

…………………………….

https://www.facebook.com/photo?fbid=927838207309917&set=a.332517853508625

…………………………….

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

#บาลีวันละคำ (3,203)

20-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย