บาลีวันละคำ

อาโรคฺยปรมา (บาลีวันละคำ 2,848)

อาโรคฺยปรมา

เขียนผิดได้ ก็ต้องเขียนถูกได้

เขียนแบบคำอ่าน: อาโรค๎ยะปะระมา

อ่านตามสะดวกลิ้นไทย: อา-โร-คะ-ยะ-ปะ-ระ-มา

อ่านตามเสียงบาลี: อา-โรก-เคียะ-ปะ-ระ-มา

อาโรคฺย” รากศัพท์มาจาก :

ขั้นที่ 1 : โรค (โร-คะ) = ความเจ็บป่วย, โรค (illness, disease)

ขั้นที่ 2 : + โรค (แปลง เป็น ) = อโรค : โรคของผู้นั้นไม่มี เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า “อโรค” (อะ-โร-คะ) = ผู้ไม่มีโรค, ไม่เจ็บป่วย, มีสุขภาพดี (one who without disease, one who healthy)

ขั้นที่ 3 : อโรค + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง อะ ที่ (-โรค) เป็น อา ตามสูตร : “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ

: อโรค > อาโรค + ณฺย > = อาโรคฺย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะของผู้ไม่มีโรค” หมายถึง ความไม่มีโรค, ความมีอนามัยดี (absence of illness, health)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาโรคฺย : (คำนาม) ความสำราญ, ความไม่มีโรค; health, soundness of body.”

อาโรคฺย + ปรม (แปลว่า “อย่างยิ่ง”) = อาโรคฺยปรม (อา-โรก-เคียะ-ปะ-ระ-มะ) แปลตามสูตรว่า “ความไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง ของลาภ เหตุนั้น ลาภจึงชื่อว่ามีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง”

ทำความเข้าใจทางหลักภาษา :

(1) คำเดิม “อโรค” (อะ-โร-คะ) ผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์เป็น “อาโรคฺย

จาก โร- เป็น อาโร-

(2) “อาโรคฺยคฺ ควาย เป็นตัวสะกดและออกเสียงครึ่งเสียง ดังนั้น จะอ่านว่า อา-โร-คะ-ยะ ไม่ถูก อ่านว่า อา-โรก-ยะ ก็ไม่ถูก

(3) “อาโรคฺย” ออกเสียงว่า อา-โรก-เคียะ จะเป็นเสียงตรงที่สุด

(4) ข้อความเต็มๆ ที่มีคำนี้ปรากฏในคัมภีร์พระธรรมบท (พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 25 หน้า 42) คือ “อาโรคฺยปรมา ลาภา” เป็นคำบาลีที่คนไทยเอาไปพูดกันแพร่หลายคำหนึ่ง

แต่ส่วนมากจะพูดผิด คือพูดว่า อะโรคะยา  ปะระมา  ลาภา

(5) คำที่ถูก

บาลีเขียนว่า “อาโรคฺยปรมา  ลาภา

แยกเป็นสองกลุ่มคำ คือ (๑) อาโรคฺยปรมา (๒) ลาภา

ไม่ใช่ (๑) อโรคยา (๒) ปรมา (๓) ลาภา

เขียนเป็นคำอ่านว่า “อาโรค๎ยะปะระมา  ลาภา

ไม่ใช่ อะโรคะยา / ปะระมา / ลาภา

อ่านว่า อา-โรก-คฺยะ(เคียะ)-ปะ-ระ-มา ลา-พา

จำกฎสั้นๆ ก็ได้ว่า “อา– ไม่ใช อะ, –ยะ ไม่ใช่ ยา

อาโรคฺยปรมา  ลาภา” แปลตามสำนวนบาลี (word by word) ว่า “ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง

แปลให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง, ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ, ความไม่มีโรคเป็นบรมลาภ

ทำความเข้าใจทางความหมาย :

จะเข้าใจความหมายของคำแปลที่ว่า “ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” ได้ชัดเจน ต้องลองวาดภาพว่า เอาสิ่งที่เรียกว่า “ลาภ” (gain) มาวางเรียงกันเข้า ไม่ว่าจะเป็น – การสอบเข้าเรียนต่อได้ การได้งานทำ ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้เลื่อนยศ ได้บ้าน ได้รถ ได้ลูก ได้ที่ดิน ได้เป็นเจ้าของบริษัท ถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ 1 ติดต่อกัน 3 งวด ฯลฯ แล้วก็เอา “ความไม่มีโรค” (absence of illness, health, soundness of body) วางรวมไว้ด้วย

ต่อจากนั้นจึงให้เราเลือกว่า อะไรเป็น “อย่างยิ่ง” คือเป็นที่สุด เป็นสุดยอดในบรรดา “ลาภ” ที่วางเรียงกันอยู่นั้น

ทุกคนย่อมจะเลือกเอา “ความไม่มีโรค

สมมุติว่า มีคนยก “ลาภ” ที่วางเรียงกันอยู่นั้นให้เราทั้งหมด แต่ให้เราติดโรค “โควิด-19” หรือป่วยติดเตียงไปตลอดชีวิต เอาไหม?

ความไม่มีโรค” ชนะลาภทั้งหมดอย่างขาดลอย

นี้แหละท่านจึงว่า “ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง

อภิปราย :

การพูด-เขียนคำว่า “อาโรคฺยปรมา” ผิดๆ ไม่ได้มีเหตุมาจากความไม่รู้เพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุที่ลึกไปกว่านั้นก็คือความไม่ใฝ่รู้

สังเกตได้ว่าผู้ที่พูด-เขียนคำว่า “อาโรคฺยปรมา” ผิดๆ ส่วนมากเป็นคนมีความรู้พอสมควร คนเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก ความไม่รู้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนเหล่านี้ แต่ปัญหาที่ใหญ่มากเกิดมาจากความไม่ใฝ่รู้

อาจเป็นเพราะเข้าใจว่าสิ่งที่ตนรู้และเข้าใจอยู่นั้นถูกต้องแล้ว นั่นคือเข้าใจไปว่าพูดหรือเขียนว่า “อโรคะยา ปรมา ลาภา” อย่างนี้ถูกต้องแล้ว ไม่ได้เฉลียวใจว่าผิด มิหนำซ้ำอาจอ้างด้วยว่า ที่นั่นก็เขียนอย่างนี้ คนนั้นก็พูดและเขียนอย่างนี้ ใครๆ เขาก็พูดและเขียนอย่างนี้ เขาพูดและเขียนอย่างนี้กันทั่วบ้านทั่วเมือง จะมาบอกว่าผิดได้อย่างไร

และที่จะเป็นมหันตภัยก็คือ-ประเดี๋ยวก็จะมีคนออกมาบอกว่า ในเมื่อคนทั่วไปพูดและเขียนอย่างนี้กันทั้งนั้น ก็ควรจะอนุโลมหรือยอมรับว่า การพูดและเขียนอย่างนี้ก็ถูกต้องและใช้ได้ อย่างที่ว่า-ถูกต้องตามความนิยม

ถ้าเป็นอย่างนี้ ความวิปริตก็จะเกิดขึ้นในหลักภาษาบาลี

โปรดเทียบกับกรณีนี้

ตามหลักพระวินัย ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิง เป็นอาบัติสังฆาทิเสส แม้ตนจะไม่มีความกำหนัด ท่านก็ปรับเป็นความผิดลดหลั่นลงมา คำว่า “หญิง” นี้รวมหมดไม่เว้นแม้แต่มารดา

ภิกษุรูปหนึ่งเลี้ยงแม่ อาบน้ำให้แม่ อุ้มแม่ กอดแม่ คนทั้งหลายเห็นก็ชื่นชมยินดีพากันสรรเสริญว่าพระท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อมีผู้ทักท้วงว่าทำเช่นนั้นผิดพุทธบัญญัติ ก็มีเสียงเรียกร้องว่า เมื่อผู้คนเขาชื่นชมสรรเสริญ พุทธบัญญัติก็ควรจะอนุโลมหรือแก้ไขให้เป็นไปตามความนิยมของสังคม

ถ้าเป็นอย่างนี้ ความวิปริตก็จะเกิดขึ้นในหลักพระธรรมวินัย

วิธีที่ถูกต้องก็คือ พัฒนาความรู้ความเข้าใจของเราให้ขึ้นไปถึงความถูกต้องของหลักภาษาหรือความถูกต้องของหลักพระธรรมวินัย แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักนั้น ไม่ใช่ยอมรับความวิปริตว่าเป็นความถูกต้อง

ในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของเราให้ขึ้นไปถึงความถูกต้องนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความใฝ่รู้ – ซึ่งสังคมไทยในยามนี้กำลังขาดแคลนเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เขียนเกี่ยวกับคำว่า “อาโรคฺยปรมา  ลาภา” มาแล้วอย่างน้อยก็ 4 ครั้ง

แต่เมื่อวานนี้เองก็ยังได้เห็นคนมีความรู้เขียนคำนี้เป็น “อโรคยา  ปรมา  ลาภา” อยู่นั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เราจะไม่ท้อขอสู้กับความไม่ใฝ่รู้ของผู้คน

: เหมือนบุคลากรทางการแพทย์ที่สู้ทนผจญโรคโควิด-19

#บาลีวันละคำ (2,848)

30-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย