บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เมื่อไรมนุษย์จะยกระดับจิต

เมื่อไรมนุษย์จะยกระดับจิต

————————————-

ให้ถึงขั้นไม่ปกปิดความชั่วของตัวเอง

อยู่มาวันหนึ่ง (๗ มกราคม ๒๕๖๑) ผมเขียนบาลีวันละคำคำว่า “อุทริยํ” ซึ่งแปลว่า “สิ่งที่มีอยู่ในท้อง” หมายถึงอาหารที่กินเข้าไป 

แล้วก็คิดถึงคำพระที่ว่า “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิติกา” แปลว่า-สิ่งมีชีวิตทั้งมวลล้วนดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร

คิดต่อไปว่า การกินตามธรรมชาติธรรมดาก็คือกินทางปาก อาหารก็เข้าไปอยู่ในท้องคือกระเพาะอาหาร 

แต่เวลานี้มีวิธีให้อาหารทางสายยาง ไม่ได้เข้าทางปาก และตัวอาหารก็ไม่ผ่านเข้าไปอยู่ในกระเพาะ 

ชนิดของอาหารก็ปรับปรุงพัฒนาไป อาจไม่ใช่ข้าวเป็นคำๆ ขนมเป็นชิ้นๆ แต่กลายเป็นเม็ดยา เป็นแคปซูล อาจไม่ต้องกินวันละ ๓ มื้อ แต่กินเม็ดเดียวอยู่ไปได้ ๗ วัน

แล้วก็เลยคิดต่อไปถึงมนุษย์อวกาศ ออกไปโคจรนอกโลกกับยานอวกาศ ก็คงไม่ได้กินอาหารด้วยวิธีธรรมดา

เมื่อคิดถึงมนุษย์อวกาศ ก็ต้องนึกถึง นีล อาร์มสตรอง มนุษย์อวกาศคนแรกที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์โดยยานอะพอลโล ๑๑ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ เหตุการณ์ในวันนั้นผมได้ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย

ครั้นแล้วความคิดก็ไปสะดุดตรงที่ว่า มีกลุ่มผู้คนออกมาบอกว่า การไปเหยียบดวงจันทร์เป็นเรื่องหลอกลวง อ้างเหตุผลนั่นนี่โน่นหลายอย่าง

แล้วก็มีคนออกมาโต้กลับ บอกว่าการไปเหยียบดวงจันทร์เป็นเรื่องจริง อ้างเหตุผลนั่นนี่โน่นหลายอย่างเช่นกัน

……………….

มีอยู่คราวหนึ่ง ผมอธิบายข้อธรรมว่าด้วยสิ่งที่เป็นความเชื่อกับสิ่งที่เป็นความจริง ยกตัวอย่างเช่น มีคนเชื่อว่าถ้าเอาเด็กไปลอดท้องช้าง เด็กนั้นจะอายุยืน 

นี่เป็นความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง 

เด็กที่ลอดท้องช้างไม่ได้อายุยืนทุกคน และแม้ว่าเด็กคนนั้นจะอายุยืนจริง ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าอายุยืนเพราะลอดท้องช้าง 

เหตุที่ทำให้คนอายุยืนมีตั้งหลายอย่าง 

แต่โลกอื่น ดาวดวงอื่นมีอยู่จริง นี่เป็นความจริง ไม่เกี่ยวกับความเชื่อ 

ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็มีอยู่จริง อย่างเช่นดวงจันทร์ก็มีอยู่จริง และมีมนุษย์เคยไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้วจริง 

ถ้าสมมุติว่าเอาเรื่องมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ไปเล่าให้คนในสมัยสุโขทัยฟัง คนสมัยนั้นก็คงจะไม่เชื่อ … 

ผมบรรยายความโดยยกตัวอย่างไปในทำนองนี้

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งได้อ่าน ท่านก็ท้วงด้วยความปรารถนาดีว่า ตัวอย่างมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์นั้นหมิ่นเหม่ไปหน่อย เพราะยังมีคนจำนวนมากไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ควรจะยกเรื่องอื่นเป็นตัวอย่างดีกว่า จะได้ปลอดจากการโต้แย้ง

ผมได้ฟังดังนั้นก็ยอมรับว่า จริง ตัวอย่างแบบนี้ไม่ปลอดภัย ผมก็เปลี่ยนไปเป็นตัวอย่างเรื่องอื่น

……………….

ประเด็นอยู่ตรงที่ มนุษย์อวกาศไปเหยียบดวงจันทร์จริงหรือไม่ ทำไมเราจึงไม่พิสูจน์กันด้วยความจริง 

ไปเหยียบจริงก็ยืนยันไปว่าจริง

ไม่จริง ก็ยอมรับไปตรงๆ ว่าไม่จริง

ตัวแสดงในเหตุการณ์ คือมนุษย์อวกาศเหล่านั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ (นีล อาร์มสตรอง เสียชีวิตแล้ว แต่อีก ๒ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ คือ เอ็ดวิน (บัซซ์) อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ทราบว่ายังมีชีวิตอยู่) ทำไมจึงบอกความจริงไม่ได้ มีอะไรมาปิดปากไว้ 

หรือถ้าบอกไปหมดทุกอย่างแล้วว่าไปเหยียบมาแล้วจริงๆ ก็ควรไปชี้แจงกับคนที่ไม่เชื่อ ว่ามันจริงขนาดนี้แล้วทำไมจึงยังไม่เชื่ออยู่อีก

ฝ่ายข้างที่แย้งว่าไม่จริง ก็เอาพยานหลักฐานมายืนยันได้ เช่นถ้าอ้างว่าภาพมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ถ่ายทำกันที่โรงถ่ายภาพยนตร์ ก็เอาหลักฐานมายันกันเลยว่าถ่ายกันที่โรงถ่ายไหน ตากล้องชื่ออะไร ลากคอออกมาประกาศกันเลย 

ทำไมไม่ทำ?

พอตัวแสดงในเหตุการณ์ล่วงลับไปหมดแล้ว ทีนี้ก็มโนกันสนุกไปตลอดกาลนานล่ะ – กูว่าจริง มึงว่าไม่จริง กูว่ายังงั้น มึงว่ายังงี้ 

แต่คำตอบที่ถูกต้องไม่รู้ว่าจะไปเอามาจากไหน เพราะเจ้าของเหตุการณ์ไม่อยู่แล้ว

ผมสังเกตเห็นว่า เราชอบที่จะรอให้มันเป็นอย่างนั้น

ลองนึกถึงประวัติศาสตร์สมัยปลายกรุงธนต้นกรุงเทพฯ ที่เวลานี้ก็มีคนไทยมโนกันอย่างสนุกสนาน ไม่ต้องห่วงว่าจะมีใครลุกขึ้นมาชี้ผิดชี้ถูก เพราะตัวแสดงล่วงลับไปหมดสิ้นแล้ว

เขยิบเข้ามา ลองนึกถึงเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๕ เวลานี้ก็ได้ยินว่ามีคนไทยกำลังมโนกันสนุกปากอีกเหมือนกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนสมัยนั้นลุกขึ้นมาชี้ผิดชี้ถูกอีกเหมือนกัน

ใกล้เข้าอีกนิด ลองนึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นยุคสมัยที่การเขียนหนังสือบันทึกเหตุการณ์กระทำกันอยู่ทั่วไป 

ถามว่า เหตุการณ์ทุกแง่ทุกมุมเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เรารู้กระจ่างตรงกับความเป็นจริงหมดแล้วหรือยัง 

คณะราษฎร์คิดอะไรกัน ตั้งใจทำอะไรกัน มีใครบอกเรื่องจริงได้บ้าง ก้นบึ้งจริงๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมันเกิดจากอะไรกันแน่ 

เราก็ปล่อยให้ตัวแสดงในเหตุการณ์ล่วงลับไปหมดอีกเช่นกัน เพื่อจะได้มโนกันให้สนุกปากอีกเช่นกัน

ขยับใกล้ตัวเข้ามาชิดๆ อีกหน่อย – เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ เกือบครึ่งศตวรรษแล้ว มีใครอธิบายบรรยายไว้เป็นหลักฐานครบถ้วนถูกต้องตรงกับความเป็นจริงบ้างแล้วหรือไม่

ความจริงจริงๆ ไม่ใช่ความจริงตามคำแถลง 

ตัวแสดงในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ ยังมีชีวิตอยู่เป็นจำนวนมาก

เสกสรร ประเสริฐกุล

ธีรยุทธ บุญมี

จีรนันท์ พิตรปรีชา

เสาวนีย์ ลิมมานนท์

ฯลฯ

ขออนุญาตเอ่ยนาม คงไม่ว่ากัน เพราะท่านเป็นตัวแสดงจริง เป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ด้วยการกระทำ และครั้งหนึ่งสังคมเรียกขานท่านว่าเป็น “วีรชน” เรียกว่าเป็นคนของสังคม

มีใครบอกให้ท่านเหล่านี้บันทึกเรื่องจริงที่ท่านทำลงไปจริงๆ ทุกแง่ทุกมุมบ้างหรือยัง

ความจริงท่านเหล่านี้เป็นปัญญาชน เขียนเป็น บันทึกเป็น จึงไม่ต้องรอให้ใครมาสัมภาษณ์ ท่านสามารถเขียนประวัติศาสตร์ที่ท่านได้ทำลงไปจริงๆ ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ถามว่าท่านเหล่านี้ทำไว้หรือยัง เขียนไว้บ้างหรือยัง?

ข้อสำคัญ ท่านกล้าที่จะบอกความจริงทุกแง่ทุกมุมหรือไม่ โดยเฉพาะความจริงที่ท่านเป็นผู้ทำลงไปเองด้วยตัวท่านเองนั่นแหละ ไม่ต้องยุ่งยากไป make มันขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดเลย

ยกตัวอย่างสนุกๆ 

เช้าวันที่ ๑๔ ท่านกินข้าวที่ไหน นัดไปเจอกันที่ไหน เจอกันแล้วคุยกันว่าอย่างไร กินข้าวกลางวันที่ไหน กินข้าวเย็นที่ไหน ในวงข้าวท่านพูดคุยอะไรกันบ้าง ปรึกษาอะไรกัน คืนนั้นท่านนอนที่ไหน ฯลฯ

อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องสัพเพเหระ ไร้สาระ 

ประวัติศาสตร์ทุกแง่มุมเป็นเรื่องมีสาระทั้งสิ้น

ถ้ามีทหารที่ไปในกองทัพวันทำยุทธหัตถีบันทึกไว้ว่า-วันนั้นสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเสวยพระกระยาเช้ามีปลาเค็มตัวหนึ่งกับข้าวเหนียวปั้นหนึ่ง-แล้วข้อความนี้มีหลงเหลือมาถึงคนรุ่นเรา 

ลองนึกดูว่าจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าสักเพียงไร

บรรยายถ่ายทอดออกมาให้หมดเปลือก ไม่ต้องให้คนรุ่นหลังมานั่งมโนกันเอาเองเหมือนเหตุการณ์ในอดีต

ตัวแสดงทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทำกันไว้ บันทึกกันไว้บ้างแล้วหรือยัง?

ถ้าทำไว้แล้ว ขออนุโมทนา

ถ้ายัง ควรรีบทำ

กลัวอย่างเดียว จะพูดแต่เรื่องดี 

ส่วนเรื่องชั่วที่ตัวทำ ไม่พูด

พอ “คนเดือนตุลา” ล่วงลับไปหมด ก็จะเข้าล็อกเดิม คือมีคนออกมาฝอยฟุ้งไปหมด แต่ไม่มีใครรู้ว่าความจริงแท้ๆ เป็นอย่างไร

ใกล้เข้ามาล่าสุด เหตุการณ์เป่านกหวีดที่เพิ่งผ่านไปสดๆ เมื่อปี ๒๕๕๖ ตัวแสดงทั้งหมดยังสดๆ อยู่ 

แต่เรารู้ความจริงกันหมดทุกแง่ทุกมุมหรือยัง 

โดยเฉพาะตัวแสดงทั้งหลาย ได้ทำความจริงที่ท่านเป็นผู้ทำลงไปด้วยตัวท่านเองให้ปรากฏเป็นหลักฐานครบถ้วนไว้แล้วหรือยัง

หรือว่าจะปล่อยให้ผู้คนในอีก ๕๐ ปีข้างหน้ามโนกันให้สนุกสนานแบบเดียวกับเหตุการณ์ในอดีตทั้งหลายที่เรากำลังมโนกันอยู่ในปัจจุบัน

บรรดาเราท่านที่กำลังมโนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ปลายกรุงธนต้นกรุงเทพฯ ก็ดี สมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ดี สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ดี เคยฉุกคิดบ้างไหมว่า ก็ถ้าตัวแสดงในยุคสมัยปัจจุบันที่เป็นคนทำเรื่องนั้นๆ มากับมือตัวเองแท้ๆ และยังมีลมหายใจเป็นปกติอยู่นี่เองแท้ๆ ยังไม่กล้าบอกความจริงแก่สังคมให้กระจ่าง 

แล้วเราท่านเอาสิทธิ์อะไรไปวิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์ในอดีต-ที่ผมใช้คำตามสมัยว่า “มโน” -ซึ่งไม่มีตัวแสดงที่ไหนในยุคสมัยนั้นจะลุกขึ้นมาบอกความจริงได้อีกแล้ว

———————

ในบรรดาตัวแสดงในสังคม ผมว่านักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่หมกความจริงไว้มากที่สุด

นักการเมืองจะมี ๒ ฉากเสมอ 

เรื่องที่เขาเอามาบอกประชาชนหรือพูดกับชาวบ้าน หรือพูดในที่ประชุม เป็นฉากหนึ่ง 

แต่เรื่องที่เขาคุยกันในหมู่พวกพ้องญาติพี่น้อง คุยกันในวงข้าววงเหล้าเฉพาะพวกของเขา เป็นอีกฉากหนึ่ง 

ฉากหลังนี่แหละคือตัวจริงหรือธาตุแท้ของพวกเขา แต่เป็นฉากที่ชาวบ้านหรือสังคมยากที่จะมีโอกาสได้รับรู้ความจริง

ปัจจุบันเป็นยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร เกิดอะไรขึ้นที่ไหนแม้อยู่ไกลคนละซีกโลกก็สามารถถ่ายทอดให้รับรู้ถึงกันได้ทั้งสิ้น

แต่ที่น่าอัศจรรย์เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เรื่องที่นักการเมืองคุยกันในหมู่พวกพ้องญาติพี่น้อง คุยกันในวงข้าววงเหล้าเฉพาะพวกของเขา ซึ่งเป็นตัวจริงหรือธาตุแท้ของพวกเขา และเกิดขึ้นอยู่ใกล้ตัวนี่เอง กลับไม่มีใครเอาข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมาบอกกล่าวให้ประชาชนรับรู้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแท้ๆ

……………

เป็นที่รู้กันและยอมรับกันว่า ความจริงบางเรื่องก็พูดไม่ได้

แต่ที่ไม่ค่อยรู้กันและไม่ค่อยมีใครยอมรับกันก็คือ การไม่กล้าเปิดเผยความผิดความชั่วของตัวเอง 

ตรงนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง

ที่ว่า-ความจริงบางเรื่องพูดไม่ได้ ก็เกิดมาจากคนที่ไม่อยากให้ใครรู้ความผิดความชั่วของตัวเองนั่นเอง แต่คนชนิดนี้เป็นคนมีอิทธิพลที่ทำให้คนทั้งหลายไม่กล้าพูดความจริงเพราะกลัวจะเป็นภัยแก่ตัวเอง

ถ้าคนเรา-ไม่ว่าจะเป็นคนระดับไหนก็ตาม มีความละอายแก่ใจ และกล้าที่จะก้มหัวยอมรับกับสังคมว่าเรื่องนั้นเรื่องโน้นข้าพเจ้าได้ทำผิดพลาดไปแล้วอย่างนี้ๆ จริง 

ใครเอาความจริงไปพูด เขาก็ไม่โกรธไม่เคือง มีแต่จะขอบคุณด้วยซ้ำ เพื่อที่เขาจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ถูกต้องดีงาม

ถ้าสังคมเรามีคนแบบนี้-โดยเฉพาะคนที่เสนอตัวออกมาเป็นตัวแสดงบทบาทต่างๆ ในสังคมเป็นคนแบบนี้-จะมีความจริงอะไรอีกเล่าที่พูดไม่ได้

ยุคสมัยหนึ่ง เราบอกกันว่าผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์

แต่ยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ มีสิทธิ์เขียนประวัติศาสตร์ได้เท่าๆ กัน

ต่างกันที่ใครจะพูดเรื่องจริง หรือใครจะอิงเรื่องเท็จ

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีหลายท่านแย้มสรวลว่า เออ เอ็งก็ฝันเฟื่องไปเถอะ คนแบบที่เอ็งว่านั่นน่ะมันมีแต่ในอุดมคติเท่านั้น มันไม่มีอยู่จริงในโลกหรอก

ผมว่าเพราะมองกันแบบนี้แหละครับ คนแบบที่ผมว่ามันจึงมีอยู่แต่ในอุดมคติเท่านั้น 

เพราะแม้แต่จะคิดว่ามันมีอยู่ได้จริง แค่นี้ก็ยังไม่กล้าคิดเลย 

ไม่ต้องพูดถึงขั้นว่าจะกล้าทำให้คนชนิดนั้นเกิดมีขึ้นได้จริงโน่นหรอก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๑:๐๖

—————-

มนุษย์เดินทางไปถึงดวงจันทร์มาตั้งแต่ครั้งที่อะพอลโล 11 พา นีล อาร์มสตรอง, เอ็ดวิน (บัซซ์) อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ ลงจอดที่ทะเลแห่งความสงบ (Mare Tranquilitatis) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2512

พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์ โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

เขากล่าวประโยคนี้เมื่อเหยียบลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์

That’s one small step for [a] man, one giant leap for mankind.

นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ[1]

อะพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *