บาลีวันละคำ

หมูป่า (บาลีวันละคำ 2,209)

หมูป่า

บาลีว่าอย่างไร

ถ้าให้แปลคำว่า “หมู” เป็นบาลี นักเรียนบาลีจะต้องนึกถึงคำว่า “สูกร” เป็นคำแรก

สูกร” อ่านว่า สู-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)

: สุ + กรฺ + สุกร + = สุกร > สูกร แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ทำผลให้อย่างงดงาม” (2) “สัตว์ที่ทำความสุขให้

(2) สุ (ตัดมาจากคำว่า “สุนฺทร” = งาม) + กร (มือ) + ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อุ ที่ สุ เป็น อู (สุ > สู)

: สุ + กร = สุกร > สูกร แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีมือคือเท้างาม

สูกร” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมู

บาลี “สูกร” สันสกฤตเป็น “สูกร” และ “ศูกร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สูกร, ศูกร : (คำนาม) หมู; ช่างหม้อ; มฤคชนิดหนึ่ง; เศวาลหรือชลนีลิกาชนิดหนึ่ง; a hog; a potter; a sort of deer; a sort of moss.”

สูกร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุกร” (สุ-กอน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุกร : (คำนาม) หมู (มักใช้เป็นทางการ) เช่น เนื้อสุกร สุกรชําแหละ. (ป.; ส. ศูกร, สูกร).”

โปรดสังเกตว่า บาลีสันสกฤตเป็น “สู-” สระ อู แต่ภาษาไทยเป็น “สุ-” สระ อุ (บาลีใช้เป็น “สุกร” ก็มีบ้าง แต่พบน้อย)

คำบาลีอีกคำหนึ่งที่แปลว่า “หมู” คือ “วราห

วราห” อ่านว่า วะ-รา-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วร (สิ่งประเสริฐ) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ) + หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (หนฺ > ) และลบ กฺวิ

: วร + อา + หนฺ = วราหนฺ + กฺวิ = วราหนกฺวิ > วราหน > วราห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ฆ่าสิ่งที่ประเสริฐ” (คือฆ่าความสะอาด เหลือแต่ความสกปรก) (2) “สัตว์อันเขาฆ่าเมื่อมีงานมงคล

(2) วรฺ (ธาตุ = ป้องกัน) + อห ปัจจัย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ (ว)-รฺ ที่สุดธาตุเป็น อา (วรฺ > วรา)

: วร + อห = วรห > วราห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์อันเขาป้องกันไว้” (คือถูกขังไว้)

วราห” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมู

บาลี “วราห” สันสกฤตก็เป็น “วราห

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วราห : (คำนาม) ศูกร, หมู, หมูป่า; พระวิษณุในอวตารครั้งที่สาม; ทวีปน้อยหรือภาคโลกหนึ่งในจำนวนสิบแปด; บรรพต; a hog, a boar; Vishṇu in the third Avatār; one of the eighteen smaller Dvīpas or divisions of the universe; a mountain.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ 2 รูป คือ “วราห์” และ “วราหะ” บอกไว้ดังนี้ –

วราห์, วราหะ : (คำนาม) หมู. (ป., ส.).”

ข้อสังเกต : พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ

แปล “สุกร” ว่า a hog, pig (หมูตอน, หมู)

แปล “วราห” ว่า a boar, wild hog (หมูป่า, สุกรป่า)

อภิปราย :

ช่วงเวลานี้มีเหตุวิกฤต คือ นักฟุตบอลเยาวชน “หมูป่าอคาเดมี” 12 คน ผู้ฝึกสอน 1 คน เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 จนถึงวันนี้ยังออกมาไม่ได้

หลายฝ่ายระดมกำลังคนและอุปกรณ์เข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยพยายามใช้วิธีการต่างๆ วิธีการบางอย่างมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำได้ มิเช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมาย

พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายรักษากฎหมายได้ถามขึ้นว่า การที่คณะผู้ช่วยเหลือจะดำเนินการบางอย่างนั้นได้รับอนุญาต หรือ “มีใบอนุญาตหรือเปล่า”

คำถามเช่นนี้เป็นเหตุให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า ฝ่ายรักษากฎหมายเห็นความสำคัญของกฎหมายมากกว่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วหรือ

ข้อสังเกตพิเศษ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำสังเกตเห็นความบังเอิญอย่างหนึ่ง คือ

๑ นักฟุตบอลเยาวชนในเหตุวิกฤตครั้งนี้มีชื่อทีมว่า “หมูป่าอคาเดมี” หรือที่เรียกกันว่า “ทีมหมูป่า

๒ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีนี้ท่านชื่อ “ศรีวราห์” คำว่า “วราห์” ก็แปลว่า หมูป่า (a boar, wild hog)

นับว่าเป็นความบังเอิญที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถ้าเลือกได้

: ท่านจะเลือกรักษากฎหมายด้วยชีวิต

: หรือท่านจะเลือกรักษาชีวิตด้วยกฎหมาย

#บาลีวันละคำ (2,209)

30-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย