บาลีวันละคำ

สามเมา (บาลีวันละคำ 2,850)

สามเมา

ในคัมภีร์ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “ฐานสูตร” (อ่านว่า ถา-นะ-สูด) (พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 57) กล่าวถึง มโท” ซึ่งแปลว่า “ความเมา” ไว้ 3 อย่าง คือ โยพฺพนมโท, อาโรคฺยมโท และ ชีวิตมโท

ขอนำมาเสนอเป็นบาลีวันละคำ เป็นการเรียนบาลีจากธรรมะ และเรียนธรรมะจากบาลีไปพร้อมๆ กัน

เรียนบาลี :

คำว่า “มโท” รูปคำเดิมเป็น “มท” (มะ-ทะ) รากศัพท์มาจาก มทฺ (ธาตุ = เมา, บ้าคลั่ง) + (อะ) ปัจจัย

: มทฺ + = มท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการเมา” หมายถึง –

(1) ความมัวเมา, ความมักมากในกาม (intoxication, sensual excess)

(2) ความเย่อหยิ่ง, ความอวดดี (pride, conceit)

มท” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มโท

(๑) “โยพฺพนมโท” (โยบ-พะ-นะ-มะ-โท) แยกศัพท์เป็น โยพฺพน + มโท

โยพฺพน” (โยบ-พะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ยุว (คนหนุ่มคนสาว) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ยุ-(ว) เป็น โอ (ยุว > โยว), ซ้อน ระหว่างบทหน้ากับปัจจัย (ยุว > โยว + + ), แปลง วฺว เป็น พฺพ, ลง อาคมที่สุดศัพท์

: ยุว > โยว + + = โยวฺวณ > โยวฺว > โยพฺพ + = โยพฺพน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งคนหนุ่มคนสาว” หมายถึง ความเป็นหนุ่มเป็นสาว (youth)

โยพฺพนมโท” แปลว่า “ความหยิ่งในความเป็นหนุ่มเป็นสาว” (the pride of youth)

(๒) “อาโรคฺยมโท” (อา-โรก-เคียะ-มะ-โท) แยกศัพท์เป็น อาโรคฺย + มโท

อาโรคฺย” รากศัพท์มาจาก :

ขั้นที่ 1 : โรค (โร-คะ) = ความเจ็บป่วย, โรค (illness, disease)

ขั้นที่ 2 : + โรค (แปลง เป็น ) = อโรค : โรคของผู้นั้นไม่มี เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่า “อโรค” (อะ-โร-คะ) = ผู้ไม่มีโรค, ไม่เจ็บป่วย, มีสุขภาพดี (one who without disease, one who healthy)

ขั้นที่ 3 : อโรค + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ยืดเสียง อะ ที่ (-โรค) เป็น อา ตามสูตร : “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ

: อโรค > อาโรค + ณฺย > = อาโรคฺย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะของผู้ไม่มีโรค” หมายถึง ความไม่มีโรค, ความมีอนามัยดี (absence of illness, health)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อาโรคฺย : (คำนาม) ความสำราญ, ความไม่มีโรค; health, soundness of body.”

อาโรคฺยมโท” แปลว่า “ความหยิ่งในความไม่มีโรค” (the pride of health)

(๓) “ชีวิตมโท” (ชี-วิ-ตะ-มะ-โท) แยกศัพท์เป็น ชีวิต + มโท

ชีวิต” บาลีอ่านว่า ชี-วิ-ตะ รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมหน้าปัจจัยท้ายธาตุ (ชีวฺ + อิ + )

: ชีวฺ + อิ + = ชีวิต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้

ชีวิต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ชีวิต (ของแต่ละคน), เวลาที่ชีวิตดำรงอยู่, ช่วงของชีวิต, การเป็นอยู่; การดำรงชีพ ([individual] life, lifetime, span of life; living, livelihood)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ชีวิต : (คำนาม) ความเป็นอยู่, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –

ชีวิต : (คำนาม) ความเป็น, ตรงข้ามกับ ความตาย. (ป., ส.).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ แก้เพียงคำเดียว คือคำว่า “ความเป็นอยู่” แก้เป็น “ความเป็น”

พจนานุกรม.42: ชีวิต = ความเป็นอยู่

พจนานุกรม.54: ชีวิต = ความเป็น

นั่นคือ พจนานุกรมฯ เห็นว่า “ความเป็นอยู่” กับ “ความเป็น” มีความหมายต่างกัน

น่าขบคิดว่า “ชีวิต” หมายถึง “ความเป็นอยู่” หรือหมายถึง “ความเป็น” หรือหมายถึงทั้งสองอย่าง

ชีวิตมโท” แปลว่า “ความหยิ่งในชีวิต” (the pride of life)

เรียนธรรมะ :

โยพฺพนมโท” หมายความว่า ความประมาทมัวเมาว่าตนยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ยังไม่แก่ ยังจะมีเวลาแสวงหาความสุขสำราญในโลกนี้ได้อีกนาน

หรือดีขึ้นมาหน่อยก็คิดว่า-ยังมีเวลาทำความดีได้อีกนานกว่าจะแก่กว่าจะหมดกำลัง

อาโรคฺยมโท” หมายความว่า ความประมาทมัวเมาว่าตนยังแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องหาหมอ สุขภาพยังฟิตเปรี๊ยะ ยังมีกำลังที่จะเที่ยวสนุกโลดแล่นไปในโลกได้ตามใจปรารถนา โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยดูแลรักษาพยาบาล

หรือดีขึ้นมาหน่อยก็คิดว่า-ยังแข็งแรง มีเรี่ยวแรง มีกำลังวังชาที่จะทำความดีได้อีกมากกว่าจะหมดกำลัง

ชีวิตมโท” หมายความว่า ความประมาทมัวเมาว่าตนยังไม่ตายง่ายๆ แม้จะมีเพื่อนมนุษย์ตายไปเรื่อยๆ แต่ตนยังรอด และจะยังรอดต่อไปเพื่อเสพเสวยความสุขในโลกนี้ได้อีกนาน

หรือดีขึ้นมาหน่อยก็คิดว่า-ยังมีอายุยืนยาวที่จะทำความดีไปได้อีกยาวนาน

ผู้รู้ท่านเตือนว่า ใครคิดอย่างนี้ นั่นคือประมาท แม้จะเป็นคนหนุ่มคนสาว แม้จะเป็นคนแข็งแรงสุขภาพดี และแม้จะมีอายุยืน ถ้าประมาทมัวเมาเสียแล้ว ก็มีค่าเท่ากับคนที่ตายแล้วนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แก่หง่อมแต่ไกลบาป

ประเสริฐกว่าหนุ่มสาวที่ถูกสาปให้ไกลบุญ

: ขี้โรคที่การุณ

ประเสริฐกว่าแข็งแรงที่กาลี

: ชีวิตวันเดียวแต่ทำดี

ประเสริฐกว่าร้อยปีแต่ทำเลว

#บาลีวันละคำ (2,850)

1-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย