อาสะวักขะยาวะหัง (บาลีวันละคำ 4,124)
อาสะวักขะยาวะหัง
คำตั้งความปรารถนา
เขียนแบบบาลีเป็น “อาสวกฺขยาวหํ” อ่านว่า อา-สะ-วัก-ขะ-ยา-วะ-หัง แยกศัพท์เป็น อาสว + ขย + อาวหํ
(๑) “อาสว”
อ่านว่า อา-สะ-วะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + สุ (ธาตุ = ไหลไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ) (สุ > โส > สว)
: อา + สุ = อาสุ + ณ = อาสุณ > อาสุ > อาโส > อาสว แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กิเลสที่ไหลออกมาทางตาเป็นต้น” (เพราะตาเห็น หูได้ยินเป็นต้น ก็เกิดกิเลสแล่นไปจับสิ่งที่ได้เห็นได้ยิน กิเลสจึงไหลออกมาทางตา ทางหูเป็นต้น)
(2) “น้ำเป็นเหตุไหลออกแห่งความมึนเมาของบุรุษ” (น้ำที่เป็นเหตุให้คนที่ดื่มมันเข้าไปแสดงอาการมึนเมาออกมา ความมึนเมาของคนจึงไหลออกมาเพราะน้ำนั้น)
(3) “กิเลสที่ไหลไปจนถึงภวัครพรหม” (หมายความว่า ผู้ที่เกิดตั้งแต่โลกบาดาล ผ่านโลกมนุษย์ ไปสิ้นสุดที่ภวัครพรหม อันเป็นภพสูงสุดก่อนที่จะหลุดพ้น ล้วนแต่ยังมีกิเลสอยู่ทั้งนั้น)
(4) “กิเลสที่ไหลไปยังสังสารทุกข์ตลอดไป” (กิเลสเหมือนกระแสน้ำที่พัดพาผู้ที่ยังมีกิเลสให้ลอยไหลเวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุด)
(5) “กิเลสที่เหมือนของหมักดองมีน้ำเมาเป็นต้นเพราะหมักหมมอยู่นาน” (เปรียบกิเลสเหมือนน้ำหมักดอง เพราะหมักหมมทับถมอยู่ในจิตใจมายาวนานหลายภพชาติ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาสว” ตามศัพท์ว่า that which flows [out or on to] outflow & influx (สิ่งที่ไหล [ออกหรือสู่], การไหลไปและการบ่าเข้ามา)
และบอกความหมายของ “อาสว” ไว้ดังนี้ –
(1) สุรา, น้ำคั้นที่ทำให้มึนเมา หรือน้ำดองของต้นไม้หรือดอกไม้ (spirit, the intoxicating extract or secretion of a tree or flower)
(2) น้ำหนองจากแผลฝี (discharge from a sore)
(3) ในจิตวิทยาเป็นศัพท์เฉพาะสำหรับความคิดที่ระบุไว้ ซึ่งทำจิตใจให้มึนเมา [ทำให้งงงวย, หรือผิดพลาด จนไม่สามารถขึ้นสู่แนวสูงได้] (in psychology, t.t. for certain specified ideas which intoxicate the mind [bemuddle it, befoozle it, so that it cannot rise to higher things]).
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อาสวะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
อาสวะ :
1. ความเสียหาย, ความเดือดร้อน, โทษ, ทุกข์
2. น้ำดองอันเป็นเมรัย เช่น ปุปฺผาสโว น้ำดองดอกไม้, ผลาสโว น้ำดองผลไม้
3. กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ,
อาสวะ ๓ คือ ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๓. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา;
อีกหมวดหนึ่ง อาสวะ ๔ คือ ๑. กามาสวะ อาสวะคือกาม ๒. ภวาสวะ อาสวะคือภพ ๓. ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ๔. อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [135] และข้อ [136] แสดง “อาสวะ” ไว้ดังนี้ –
…………..
[135] อาสวะ 3 (สภาวะอันหมักดองสันดาน, สิ่งที่มอมพื้นจิต, กิเลสที่ไหลซึมซ่านไปย้อมใจเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ — Āsava: mental intoxication; canker; bias; influx; taint)
1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม — Kāmāsava: canker of sense-desire)
2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ — Bhavāsava: canker of becoming)
3. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา — Avijjāsava: canker of ignorance)
ดู [136] อาสวะ 4 ด้วย.
[136] อาสวะ 4 (Āsava: mental intoxication; canker)
1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม — Kāmāsava: canker of sense-desire)
2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ — Bhavāsava: canker of becoming)
3. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ — Diṭṭhāsava: canker of views or speculation)
4. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา — Avijjāsava: canker of ignorance)
ในที่มาส่วนมาก โดยเฉพาะในพระสูตร แสดงอาสวะไว้ 3 อย่าง โดยสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.อ.1/93)
…………..
น่าประหลาดอย่างยิ่งที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “อาสวะ” ไว้
(๒) “ขย”
อ่านว่า ขะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = เสื่อม, สิ้น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ ขี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ขี > เข > ขย)
: ขี + ณ = ขีณ > ขี > เข > ขย (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สิ้นไป” หมายถึง ความสูญเสียหรือหมดสิ้นไป, ความเสื่อมหรือทรุดโทรมลง, ความหมดไป; การกินกร่อน, ความเสื่อมลง, ความสูญไป (waste, destruction, consumption; decay, ruin, loss)
บาลี “ขย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ขัย” (ไข)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขัย : (คำนาม) ความสิ้นไป, เขตอายุของคนที่นิยมกันว่าสูงสุด เรียกว่า อายุขัย. (ป. ขย; ส. กฺษย).”
บาลี “ขย” สันสกฤตเป็น “กฺษย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กฺษย : (คำนาม) ‘กษัย,’ ความเสียหาย, ความพินาศ, ความซูบผอม, ความสิ้น, การโยกย้าย; ความพินาศแห่งโลก; โรคผอมแห้ง; ปอดพิการ; บ้าน, เรือน, ที่อาศรัย; พยาธิหรือความป่วยไข้ทั่วไป; ความเสื่อมสิ้น, ความประลัย; (คำใช้ในพิชคณิต) กษัยราศี, จำนวนลบ; loss, destruction, waste, end, removal; destruction of the universe; consumption; phthisis pulmonalis; a house, a abode or asylum; disease or sickness in general; wasting away, decay; (in algebra) negative quantity, minus.”
สันสกฤต “กฺษย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “กษัย” อ่านว่า กะ-ไส และ “กษัย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า กะ-ไส-ยะ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กษัย, กษัย– : (คำนาม) การสิ้นไป, การหมดไป, การเสื่อมไป, การน้อยไป; ชื่อโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้งตัวเหลืองเท้าเย็น, เขียนเป็น กระษัย ก็มี. (ส. กฺษย; ป.ขย).”
(๓) “อาวหํ”
อ่านว่า อา-วะ-หัง รูปคำเดิมเป็น “อาวห” อ่านว่า อา-วะ-หะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ; ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” จาก “นำไป” กลับความเป็น “นำมา”) + วหฺ (ธาตุ = นำไป)+ อ (อะ) ปัจจัย
: อา + วหฺ = อาหวฺ + อ = อาหวฺ (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นเหตุนำมา” หมายถึง พามา, นำมา, ทำให้เกิด (bringing, going, causing)
การประสมคำ :
๑ อาสว + ขย ซ้อน กฺ
: อาสว + กฺ + ขย = อาสวกฺขย (อา-สะ-วัก-ขะ-ยะ) แปลว่า “ความสิ้นไปแห่งอาสวะ”
๒ อาสวกฺขย + อาวห = อาสวกฺขยาวห (อา-สะ-วัก-ขะ-ยา-วะ-หะ) แปลว่า “เป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ”
“อาสวกฺขยาวห” ใช้เป็นคำขยาย “ทานํ” ต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำที่ตนขยาย จึงเปลี่ยนรูปเป็น “อาสวกฺขยาวหํ”
“อาสวกฺขยาวหํ” เขียนแบบไทยเป็น “อาสวักขยาวหัง” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อาสะวักขะยาวะหัง”
ขยายความ :
เมื่อบำเพ็ญบุญถวายทานเสร็จ มักจะมีผู้รู้แนะนำให้อธิษฐานหรือตั้งความปรารถนา คำตั้งความปรารถนาแบบหนึ่งเป็นภาษาบาลีขึ้นต้นว่า “สุทินนัง …”
คำตั้งความปรารถนาดังว่านี้ ผู้ฝักใฝ่ในทางบุญมัก “ว่าได้” กันโดยมาก แต่ถ้าให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็มักจะเขียนผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันโดยมากเช่นกัน
คำตั้งความปรารถนาที่ขึ้นต้นว่า “สุทินนัง …” มีข้อความเต็มๆ ที่เขียนถูกต้องเป็นดังนี้
เขียนแบบบาลี:
สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ โหตุ.
เขียนแบบคำอ่าน:
สุทินนัง วะตะ เม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ.
แปลเป็นคำๆ:
(1) สุทินนัง = (ทาน) อันถวายดีแล้ว (คือของที่ถวายนั้นได้มาโดยชอบธรรม ถวายด้วยจิตอันเป็นกุศล ในเนื้อนาบุญคือผู้รับที่เป็นผู้บริสุทธิ์)
(2) วะตะ = หนอ (เป็นคำเสริม = ถวายดีแล้วหนอ)
(3) เม = แก่ข้าพเจ้า บางทีแปลว่า “อันข้าพเจ้า (ถวายดีแล้ว)”
(4) ทานัง = ทาน, การถวาย, ของที่ถวาย, การให้
(5) อาสะวักขะยาวะหัง = เป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ
(6) โหตุ = จงเป็น
แปลรวมความ:
ทานที่ถวายดีแล้ว (นี้) จงเป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสอาสวะแก่ข้าพเจ้า
หรือ –
ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้ว (นี้) จงเป็นเหตุนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสอาสวะ
…………..
คำตั้งความปรารถนานี้ บางทีมีต่อไปอีกว่า “นิพฺพานปจจโย โหตุ” (นิพพานะปัจจะโย โหตุ) แปลว่า “จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน”
ความจริง “อาสวกฺขยาวหํ” กับ “นิพฺพานปจจโย” มีความหมายเท่ากัน กล่าวคือ –
“อาสวกฺขยาวหํ” = นำมาซึ่งความสิ้นกิเลสอาสวะ คือสิ้นกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดอีก หรือสิ้นทุกข์
“นิพฺพานปจจโย” = เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน คือดับกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดอีก หรือดับทุกข์
ทุกข์มีเพราะการเกิด การเกิดมีเพราะกิเลส
หมดกิเลสก็ไม่เกิด ไม่เกิดก็ไม่ทุกข์
…………..
ดูก่อนภราดา!
อันว่าคำตั้งความปรารถนาเมื่อบำเพ็ญบุญ –
: อย่าพูดตามกันเรื่อยไป
: แน่ใจนะว่าไม่อยากเกิดอีกจริงๆ
#บาลีวันละคำ (4,124)
27-9-66
…………………………….
…………………………….