อิสริยยศ (บาลีวันละคำ 2,851)
อิสริยยศ
หนึ่งในสามยศ
อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ-ยด
ประกอบด้วยคำว่า อิสริย + ยศ
(๑) “อิสริย”
บาลีเป็น “อิสฺสริย” อ่านว่า อิด-สะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก อิสฺสร + อิย ปัจจัย
(ก) “อิสฺสร” รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ
: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)
(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)
: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง
“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
“อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”
(ข) อิสฺสร + อิย ปัจจัย
: อิสฺสร + อิย = อิสฺสริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้เป็นใหญ่” หมายถึง ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
“อิสฺสริย” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสริย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสริย-, อิสริยะ : (คำนาม) ความเป็นใหญ่, ความเป็นเจ้า, ความยิ่งใหญ่. (ป. อิสฺสริย; ส. ไอศฺวรฺย).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อิสริยะ” สันสกฤตเป็น “ไอศฺวรฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ไอศฺวรฺยฺย, ไอศฺวรฺย : (คำนาม) ‘ไอศวรรย์,’ เทวานุภาพ, สรรพสมรรถศักดิ์, ความแลไม่เห็น, ฯลฯ; ความเปนใหญ่, พลศักดิ์, กำลัง; divine power, omnipotence, invisibility, etc.; supremacy, power, might.”
โปรดสังเกตคำแปลเป็นอังกฤษ ระหว่าง “อิสฺสริย” ในบาลี ซึ่งฝรั่งแปล กับ “ไอศฺวรฺย” ในสันสกฤต ซึ่งไทย (นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) ผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน) แปล มีตรงกันคำเดียวคือ supremacy
(๒) “ยศ”
บาลีเป็น “ยส” (-ส เสือ) อ่านว่า ยะ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ส
: ยชฺ + อ = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา”
(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น อ (ยา > ย)
: ยา + ส = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)
(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + อ ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) (ยสุ > ยส)
: ยสุ + อ = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”
“ยส” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ยศหรือตำแหน่งสูง (glory, fame, repute, success, high position)
“ยส” (ส เสือ) ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “ยศ” (ศ ศาลา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยศ : (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส)”
อิสฺสริย + ยส = อิสฺสริยยส (อิด-สะ-ริ-ยะ-ยะ-สะ) เขียนแบบไทยเป็น “อิสริยยศ” (อิด-สะ-ริ-ยะ-ยด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“อิสริยยศ : (คำนาม) ยศอันยิ่งใหญ่, ยศที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ หมายถึง สกุลยศของพระราชวงศ์ที่ถือกำเนิดมาว่ามียศทางขัตติยราชสกุลชั้นใด เช่น เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า, ถ้าพระราชวงศ์พระองค์ใดได้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีความดีความชอบ ก็อาจได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรมจึงต่อพระนามกรมไว้ท้ายพระนามเดิม เช่น พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ เป็นดังนี้ –
“อิสริยยศ : (คำนาม) ยศที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาเจ้านายให้สูงขึ้น เนื่องจากได้ปฏิบัติราชการแผ่นดิน มีความดีความชอบ เช่น สถาปนาพระองค์เจ้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้า สถาปนาหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า, ยศอันยิ่งใหญ่ที่สามัญชนได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า.”
อธิบาย :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ยศ” ไว้ดังนี้ –
“ยศ : ความเป็นใหญ่และความยกย่องนับถือ; ในภาษาไทย มักได้ยินคำว่า เกียรติยศ ซึ่งบางครั้งมาคู่กับ อิสริยยศ และอาจจะมี ปริวารยศ หรือ บริวารยศ มาเข้าชุดด้วย รวมเป็น ยศ ๓ ประเภท.”
และที่คำว่า “อิสริยยศ” บอกไว้ดังนี้ –
“อิสริยยศ : ยศคือความเป็นใหญ่, ความเป็นใหญ่โดยตำแหน่ง ฐานันดร เป็นต้น.”
ขยายความ :
ผู้รู้ท่านขยายความว่า “ยศ” มี 3 ประเภท คือ –
(1) อิสริย (อิด-สะ-ริ-ยะ) แปลว่า ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “อิสริยยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ และมีสิทธิอำนาจที่ควบมากับตำแหน่งหน้าที่นั้น
(2) กิตฺติ (กิด-ติ) แปลว่า ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์, เกียรติ (fame, renown, glory, honour)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “เกียรติยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความมีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญยกย่องนับถือของคนทั่วไป
(3) ปริวาร (ปะ-ริ-วา-ระ) แปลว่า สิ่งที่แวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “บริวารยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความมีพวกพ้องญาติมิตรมาก มีผู้คนคอยเป็นกำลังสนับสนุนมาก
ข้อสังเกต :
ในบรรดา “ยศ” ทั้ง 3 ประเภท พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อิสริยยศ” และ “เกียรติยศ” ไว้ แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “บริวารยศ” ไว้
แม้คำว่า “อิสริยยศ” และ “เกียรติยศ” ที่เก็บไว้ ความหมายในภาษาไทย (ตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ) ก็ไม่ตรงกับความหมายเดิมในบาลีเสียทีเดียว เช่น –
“อิสริยยศ” ความหมายเดิมคือ ความยกย่องนับถือที่เกิดจากความได้เป็นใหญ่ในสังคมนั้นๆ ไม่ได้จำกัดเฉพาะสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ
แต่ในภาษาไทย “อิสริยยศ” (ตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ) หมายเอาเฉพาะ “ยศที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้น”
“เกียรติยศ” ความหมายเดิมคือ ความยกย่องนับถือที่เกิดจากความมีชื่อเสียงเนื่องจากได้ประกอบคุณงามความดีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่เลื่องลือ
แต่ในภาษาไทย “เกียรติยศ” (ตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ) หมายเอาเฉพาะ “เกียรติโดยฐานะตําแหน่งหน้าที่หรือชาติชั้นวรรณะ”
การที่พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อิสริยยศ” และ “เกียรติยศ” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “บริวารยศ” ไว้ บอกให้รู้ว่า การเก็บคำของพจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บตามชุดของคำ แต่เก็บตามต้องการหรือตามประสงค์ คือต้องการหรือประสงค์คำใดก็เก็บเฉพาะคำนั้นโดยไม่ได้คำนึงว่า ในชุดของคำนั้นยังมีคำอื่นอยู่อีกหรือไม่
ถ้าใช้หลัก “เก็บตามชุดของคำ” เมื่อเก็บคำหนึ่งในชุด ก็ควรจะเก็บทุกคำที่มีอยู่ในชุดด้วย เช่นกรณีคำที่เกี่ยวกับ “ยศ” ในชุดนี้มี 3 คำ ถ้าเก็บ “อิสริยยศ” และ “เกียรติยศ” ก็ควรต้องเก็บ “บริวารยศ” ด้วยจึงจะสมบูรณ์
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า ความคิดเห็นดังที่กล่าวมานี้ควรไปสู่การรับรู้และรับพิจารณาของคณะกรรมการฯ แห่งราชบัณฑิตยสภา
แต่ปัญหาก็คือ ด้วยวิธีเช่นไรเล่าและเมื่อไรเล่าความคิดเห็นดังที่กล่าวมานี้จึงจะไปถึงการรับรู้และรับพิจารณาของคณะกรรมการฯ แห่งราชบัณฑิตยสภา?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะยังไม่ได้เป็นใหญ่เหนือจิต
: จึงมักมีเรื่องวิปริตในหมู่ผู้เป็นใหญ่เหนือคน
#บาลีวันละคำ (2,851)