บาลีวันละคำ

ภาระ (บาลีวันละคำ 2,852)

ภาระ

เหนื่อยก็พัก

หนักก็วาง

มีกำลังก็ลุกขึ้นแบกต่อไป

คำว่า “ภาระ” เขียนแบบบาลีเป็น “ภาร” อ่านว่า พา-ระ รากศัพท์มาจาก ภรฺ (ธาตุ = เลี้ยงดู, ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ภรฺ > ภาร)

: ภรฺ + = ภรณ > ภร > ภาร (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทรงไว้” (สิ่งที่แบกรับน้ำหนักของสิ่งอื่นไว้) (2) “สิ่งอันเขาทรงไว้” (สิ่งที่เป็นน้ำหนักให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นต้องแบกรับ)

ภาร” ในภาษาบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สิ่งที่นำไป, สัมภาระ (anything to carry, a load)

(2) การบรรทุก, เต็มรถคันหนึ่ง [เป็นการวัดปริมาณ] (a load, cartload [as measure of quantity])

(3) สิ่งที่ยากลำบาก, ภาระหรือหน้าที่, สิ่งที่อยู่ในการดูแล, ธุรกิจ, หน้าที่, การงาน, กิจธุระ (a difficult thing, a burden or duty, a charge, business, office, task, affair)

บาลี “ภาร” สันสกฤตก็เป็น “ภาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้

(สะกดตามต้นฉบับ)

ภาร : (คำนาม) น้ำหนัก; ของมีน้ำหนัก; คานสำหรับหาบคอนของมีน้ำหนัก; นามของพระวิษณุ; น้ำหนักทองครรม, เท่ากับสองพันปล; a weight; a burden; a yoke for carrying burdens; a name of Vishṇu; a weight of gold, equal to two thousand Pala.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาร, ภาร-, ภาระ ๑ : (คำนาม) ของหนัก, นํ้าหนัก; ธุระที่หนัก, การงานที่หนัก; หน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่มีภาระในการเลี้ยงดูลูก ครูมีภาระในการอบรมสั่งสอนศิษย์, ความรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่ตายหมด พี่ต้องรับภาระส่งเสียเลี้ยงดูน้อง. (คำวิเศษณ์) หนัก. (ป.).”

คติโลก :

ในพิธีอุปสมบท (พิธีบวชพระ) มีขั้นตอนหนึ่งที่ผู้บวช (ซึ่งกำลังจะเป็นพระ) ต้องกล่าวต่อที่ประชุมสงฆ์ คำกล่าวนั้นเป็นภาษาบาลีว่า –

อชฺชตคฺเคทานิ เถโร มยฺหํ ภาโร, อหมฺปิ เถรสฺส ภาโร.

(อัชชะตัคเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร, อะหัมปิ เถรัสสะ ภาโร)

แปลว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเถระ (คือพระอุปัชฌาย์) เป็นภาระของกระผม, แม้กระผมก็เป็นภาระของพระเถระ

ความหมายก็คือ การยอมรับว่าพระอุปัชฌาย์และพระบวชใหม่ต่างก็จะดูแลกันและกัน

คำว่า “ภาระ” แปลว่า น้ำหนักบรรทุก ซึ่งอาจทำให้แต่ละฝ่ายต้องลำบาก แต่เมื่อประกาศยอมรับคือรู้หน้าที่ของกันและกันไปตั้งแต่ต้นเช่นนี้แล้วก็ไม่มีใครจะต้องรู้สึกลำบากอะไร เพราะเป็นความเต็มใจที่จะแบกรับภาระของกันและกัน จะว่าไปก็เป็นความสุขแบบหนึ่งด้วยซ้ำ คือสุขที่ได้ทำหน้าที่

คติธรรม :

ภารา  หะเว  ปัญจักขันธา

ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ

ภาระหาโร  จะ  ปุคคะโล

บุคคลแหละเป็นผู้แบกของหนักพาไป

ภาราทานัง  ทุกขัง  โลเก

การแบกถือของหนักเป็นความทุกข์ในโลก

ภาระนิกเขปะนัง  สุขัง

การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข

นิกขิปิต๎วา  คะรุง  ภารัง

พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว

อัญญัง  ภารัง  อะนาทิยะ

ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก

สะมูลัง  ตัณหัง  อัพพุฬหะ

ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก

นิจฉาโต  ปะรินิพพุโต.

เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือ.

ที่มา: ภารสูตร สังยุตนิกาย ขันธวารวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 17 ข้อ 53

…………..

ดูก่อนภราดา!

ภาระใดๆ ก็ตาม

: ถ้าชัง ก็หนัก

: ถ้ารัก ก็เบา

#บาลีวันละคำ (2,852)

3-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย