พฺยคฺฆมํส (บาลีวันละคำ 3,653)
พฺยคฺฆมํส
เนื้อเสือโคร่ง : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 7
เขียนแบบบาลี อ่านตามที่มักอ่านกันว่า พะ-ยัก-คะ-มัง-สะ
อ่านตามสำเนียงบาลีว่า เพียก-คะ-มัง-สะ (พฺ+ย ควบกัน)
แยกศัพท์เป็น พฺยคฺฆ + มํส
(๑) “พฺยคฺฆ”
อ่านว่า เพียก-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ฆา (ธาตุ = ดมกลิ่น) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย แล้วแปลง วฺ เป็น พฺ (วิ > วฺย > พฺย), ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + อา + คฺ + ฆา), รัสสะ อา เป็น อะ, ลบสระหน้า คือ อา ที่ ฆา (ฆา > ฆ)
: วิ > วฺย > พฺย + อา = พฺยา + คฺ + ฆา = พฺยาคฺฆา > พฺยาคฺฆ + อ = พฺยาคฺฆ > พฺยคฺฆ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฆ่าแล้วดม” (เล็งถึงลักษณะนิสัยของสัตว์ชนิดนี้)
(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ฆสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, แปลง อิ ที่ วิ เป็น ย แล้วแปลง วฺ เป็น พฺ (วิ > วฺย > พฺย), ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + อา + คฺ + ฆสฺ), รัสสะ อา เป็น อะ, ลบ สฺ ที่สุดธาตุและ กฺวิ
: วิ > วฺย > พฺย + อา = พฺยา + คฺ + ฆสฺ = พฺยาคฺฆสฺ > พฺยาคฺฆสฺ + กฺวิ = พฺยาคฺฆสกฺวิ > พฺยคฺฆสกฺวิ > พฺยคฺฆส > พฺยคฺฆ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังสัตว์นั้นๆ ให้ถึงความวิบัติแล้วกิน”
“พฺยคฺฆ” (ปุงลิงค์) หมายถึง เสือ, เสือโคร่ง (a tiger)
“พฺยคฺฆ” ภาษาไทยใช้เป็น “พยัคฆ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “พยัคฆ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“พยัคฆ-, พยัคฆ์ : (คำนาม) เสือโคร่ง. (ป. พฺยคฺฆ, วฺยคฺฆ; ส. วฺยาฆฺร).”
(๒) “มํส”
อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ส ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)
: มนฺ + ส = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)
“มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้
พฺยคฺฆ + มํส = พฺยคฺฆมํส (เพียก-คะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อเสือโคร่ง”
ขยายความ :
“พฺยคฺฆมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –
(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์
(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง
(3) อสฺสมํส เนื้อม้า
(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข
(5) อหิมํส เนื้องู
(6) สีหมํส เนื้อสิงโต
(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง
(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง
(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี
(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว
…………..
ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –
…………..
เตน โข ปน สมเยน ลุทฺธกา พฺยคฺฆํ หนฺตฺวา พฺยคฺฆมํสํ ปริภุญฺชนฺติ ภิกฺขูนํ ปิณฺฑาย จรนฺตานํ พฺยคฺฆมํสํ เทนฺติ ฯ
ก็สมัยนั้นแล พวกพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วบริโภคเนื้อเสือโคร่ง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต
ภิกฺขู พฺยคฺฆมํสํ ปริภุญฺชิตฺวา อรญฺเญ วิหรนฺติ ฯ
พวกภิกษุฉันเนื้อเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า
พฺยคฺฆา พฺยคฺฆมํสคนฺเธน ภิกฺขู ปริปาเตนฺติ ฯ
เหล่าเสือโคร่งฆ่าพวกภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อเสือโคร่ง
ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุํ ฯ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
(พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า)
น ภิกฺขเว พฺยคฺฆมํสํ ปริภุญฺชิตพฺพํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง
โย ปริภุญฺเชยฺย อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺสาติ ฯ
รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ
ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60
…………..
คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –
…………..
สีหมํสาทีนิ ปญฺจ อตฺตโน อนุปทฺทวตฺถายาติ ฯ
เนื้อ 5 ชนิดมีเนื้อสิงโตเป็นต้น (รวมทั้งเนื้อเสือโคร่ง) ที่ทรงห้ามก็เพื่อต้องการความไม่มีอันตรายแก่ภิกษุ
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เสือคน
: ร้ายกว่าเสือสัตว์
#บาลีวันละคำ (3,653)
13-6-65
…………………………….
…………………………….