บาลีวันละคำ

อุปกรณ์ (บาลีวันละคำ 2,855)

อุปกรณ์

คุ้นตาคุ้นปาก ไม่เคยถอนรากขึ้นมาดู

อ่านว่า อุ-ปะ-กอน ก็ได้

อ่านว่า อุบ-ปะ-กอน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

อุปกรณ์” บาลีเป็น “อุปกรณ” อ่านว่า อุ-ปะ-กะ-ระ-นะ แยกศัพท์เป็น อุป + กรณ

(๑) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :

อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น

อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –

(1) ข้างบน, บน (on upon, up)

(2) ข้างนอก (out)

(3) สุดแต่ (up to)

(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)

(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)

(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)

(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)

(๒) “กรณ” อ่านว่า กะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: กรฺ + ยุ > อน = กรน > กรณ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ

อุป + กรณ = อุปกรณ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปทำ” “เครื่องสำหรับเข้าไปทำ

อุปกรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การช่วยเหลือ, การบริการ, การค้ำจุน, วิถีดำรงชีวิต, การดำรงชีพอยู่ (help, service, support; means of existence, livelihood)

(2) เครื่องมือหรือหนทางที่จะบรรลุความประสงค์ (any instrument or means of achieving a purpose)

บาลี “อุปกรณ” สันสกฤตก็เป็น “อุปกรณ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อุปกรณ : (คำนาม) เครื่องมือ, เครื่องใช้, เครื่องจักร์; ราชกกุธภัณฑ์; การช่วยเหลือ; ‘ศิลปสัมภาร,’ สิ่งซึ่งวิทยาหรือศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้นไว้; เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีวิต, กะปิ, น้ำปลา, ฯลฯ; apparatus, implements, machines; the insignia of royalty; assistance, help; art-furniture, an object of art or science; means of subsistence, anything supporting life, condiments, sauces, &c.”

บาลี “อุปกรณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุปกรณ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปกรณ์ : (คำนาม) เครื่องมือ, เครื่องใช้, เครื่องช่วย, เครื่องประกอบ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกตินิยมเฉพาะถิ่นหรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณเพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธานโดยการนำมาติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบกับทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น เช่น ยางอะไหล่. (ป., ส.).”

ข้อสังเกต :

เรามักเข้าใจกันว่า “อุปกรณ์” ก็คือเครื่องมือสำหรับใช้ทำงาน แต่ความจริงแล้ว ชิ้นส่วนที่เป็นเครื่องประกอบอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เรียกว่า “อุปกรณ์” ได้

ยิ่งถ้าเป็นภาษากฎหมายด้วยแล้ว “อุปกรณ์” มีความหมายกว้างออกไปอีก นั่นคือ “สังหาริมทรัพย์” ตามเงื่อนไขที่กำหนด กฎหมายก็ถือว่าเป็น “อุปกรณ์” ด้วยเช่นกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เครื่องมือก็สำคัญ

: แต่ฝีมือสำคัญกว่า

#บาลีวันละคำ (2,855)

6-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย