บาลีวันละคำ

เภสัชกร (บาลีวันละคำ 2,854)

เภสัชกร

ไม่ใช่แค่คนขายยา

อ่านว่า เพ-สัด-ชะ-กอน

ประกอบด้วยคำว่า เภสัช + กร

(๑) “เภสัช

บาลีเป็น “เภสชฺช” (เพ-สัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ภิสช + ณฺย ปัจจัย

(ก) “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ภิสฺ (ธาตุ = เยียวยา) + ปัจจัย

: ภิสฺ + = ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เยียวยา

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺ (ธาตุ = แจกแจง) + ปัจจัย, แปลง วิ เป็น ภิ

: วิ + สชฺ = วิสชฺ + = วิสช > ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คลี่คลายโรค

ภิสช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอยา, แพทย์ (a physician)

(ข) ภิสช + ณฺย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ภิ-(สช) เป็น เอ (ภิสช > เภสช), แปลง กับ ณฺย เป็น ชฺช

: ภิสช + ณฺย = ภิสชณฺย > เภสชณฺย > เภสชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” (สิ่งที่หมอใช้แก้หรือป้องกันโรค) หมายถึง โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา (a remedy, medicament, medicine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เภสัช, เภสัช– : (คำนาม) ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).”

(๒) “กร

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

เภสัช + กร = เภสัชกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “เภสัชกร” ไว้ว่า –

เภสัชกร : (คำนาม) แพทย์ปรุงยา, ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรม.”

อภิปราย :

“สาขาเภสัชกรรม” ตามคำของพจนานุกรมฯ คืออะไร? ตามไปดูที่คำว่า “เภสัชกรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เภสัชกรรม : (คำนาม) วิทยาศาสตร์แขนงที่ว่าด้วยการเตรียมเครื่องยา ตัวยาจากธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ให้เป็นยาสําเร็จรูป.”

ตามความหมายที่พจนานุกรมฯ แสดงไว้ เป็นอันว่า “เภสัชกร” คือแพทย์ปรุงยาที่สามารถเตรียมเครื่องยา ตัวยาจากธรรมชาติหรือการสังเคราะห์ แล้วผลิตออกมาเป็นยาสําเร็จรูปพร้อมที่จะนำไปใช้รักษาโรคได้

เภสัชกร” ไม่ควรเป็นเพียงผู้ที่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าใช่ยาหรือมิใช่ ถ้าใช่ เป็นยาชนิดไหน ใช้แก้โรคอะไร หรือเมื่อมีผู้ถามหายาแก้โรคเช่นนั้นๆ สามารถชี้บอกหรือหยิบยาที่ต้องการให้ได้อย่างถูกต้อง ดังที่ประชาชนมักเห็นชื่อติดอยู่ตามร้านขายยาพร้อมกับคำว่า “สถานที่จำหน่ายยาโดยเภสัชกร”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยากายที่แน่แน่ ก็พึ่งแค่เภสัชกร

: ยาใจที่แน่นอน ต้องพึ่งใจของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (2,854)

5-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย