บาลีวันละคำ

ปริศนาธรรม (บาลีวันละคำ 2,785)

ปริศนาธรรม

แก้ถูกก็เห็นธรรม

แก้ผิดก็เป็นกรรม

อ่านว่า ปฺริด-สะ-หฺนา-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า ปริศนา + ธรรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริศนา : (คำนาม) สิ่งหรือถ้อยคำที่ผูกขึ้นเป็นเงื่อนงำเพื่อให้แก้ให้ทาย. (ส. ปฺรศฺน; ป. ปญฺห).”

พจนนานุกรมฯ ว่า “ปริศนา” สันสกฤตเป็น “ปฺรศฺน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรศฺน : (คำนาม) ‘ปรัศนะ, ปรัศน์,’ อนุโยค, ปฤจฉา, คำถาม; a question, an inquiry.”

พจนนานุกรมฯ ว่า “ปริศนา” บาลีเป็น “ปญฺห

ปญฺห” (ปัน-หะ) รากศัพท์มาจาก ปญฺห (ธาตุ = ถาม; ต้องการ) + ปัจจัย

: ปญฺห + = ปญฺห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้อที่พึงถาม” (2) “ข้ออันคนอยากรู้” หมายถึง วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)

อภิปรายแทรก :

(1) “ปญฺห” ในบาลีก็คือที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “ปัญหา” นั่นเอง “ปญฺห” ในบาลีเป็นปุงลิงค์ ถ้าแจกวิภัตติสามัญ คือวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ ก็จะเป็น “ปญฺโห” พหูพจน์เป็น “ปญฺหา

ภาษาไทยไม่ใช้ “ปัญหะ” ตามรูปเดิม และไม่ใช้ “ปัญโห” ตามรูปเอกพจน์ แต่ใช้เป็น “ปัญหา” ตรงกับพหูพจน์ในบาลี

คิดให้เป็นปริศนาธรรม ก็เหมือนจะบอกว่า ธรรมชาติของปัญหาต้องมีมาก เรื่องมาก ยุ่งยากมากเสมอ

(2) เราคงไม่นึกว่า “ปญฺห” (ปัญหา) ในบาลีจะตรงกับ “ปฺรศฺน” ในสันสกฤต “ปฺรศฺน” น่าจะใกล้กับ “ปุจฺฉน” (ปุด-ฉะ-นะ) (รากศัพท์เดียวกับที่เราคุ้นว่า “ปุจฉา”) มากกว่า

แต่นักภาษาบอกว่า “ปญฺห” ในบาลี คือ “ปฺรศฺน” ในสันสกฤต

เป็นอันว่า เราไม่ใช้ “ปัญหะ” ตามบาลี และไม่ใช้ “ปฺรศฺน” ตามสันสกฤต แต่ใช้เป็น “ปริศนา” ตามแบบไทย แต่ก็มีเค้าไปทางสันสกฤต

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ปริศนา + ธรรม = ปริศนาธรรม เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปริศนาธรรม : (คำนาม) ปริศนาในทางธรรม.”

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ปริศนาธรรม” คือ “ปริศนาในทางธรรม” ก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเองว่าคืออย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า “ปริศนาธรรม” มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “พังเพย” คือ – “ถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว โดยกล่าวเป็นกลาง ๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่อง”

ข้อความใน “ปริศนาธรรม” จะกล่าวถึงเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายถึงเรื่องนั้นตรงๆ ตามถ้อยคำ หากแต่หมายถึงอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ต้องการจะพูดถึงเรื่องหนึ่ง แต่ไม่พูดตรงๆ กลับไปพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งเพื่อให้ตีความเอาเอง

ยกตัวอย่าง เช่น –

พญายักษ์ตนหนึ่งนา

มีนัยน์ตาสองข้าง

ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่

กินสัตว์ทั่วปัฐพี

พญายักษ์ตนนี้นามใด

เฉลยว่า:

พญายักษ์ตนนี้ชื่อ “พระกาล” หมายถึงกาลเวลา

นัยน์ตาสองข้าง คือกลางวันกับกลางคืน

ข้างหนึ่งสว่าง คือกลางวัน

ข้างหนึ่งริบหรี่ คือกลางคืน

กินสัตว์ทั่วปัฐพี คือกาลเวลาล่วงไปๆ ชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์สรรพสิ่งก็ร่วงโรยล่วงลับไปตามกาลเวลา

…………..

จะเห็นว่า คำในปริศนาธรรมพูดถึง “พญายักษ์” แต่ไม่ได้หมายถึงยักษ์จริงๆ พูดถึง “นัยน์ตา” ก็ไม่ได้หมายถึงดวงตาจริงๆ ต้องตีความอีกทีหนึ่งว่าหมายถึงอะไร ลักษณะอย่างนี้แหละคือ “ปริศนาธรรม

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง –

สี่คนหาม

สามคนแห่

คนหนึ่งนั่งแคร่

สองคนตามไป

นี่ก็คือ “ปริศนาธรรม” ลองถอดความหรือแก้ปริศนาดูว่าหมายถึงอะไร

การแก้ปริศนาธรรมนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้แก้ อาจแก้ไม่ตรงกันก็ได้ เสน่ห์ของปริศนาธรรมอยู่ตรงนี้-คือการใช้ปัญญาตีความปริศนาออกมาเป็นหลักธรรม เพื่อนำไปเป็นคติหรือเป็นทางดำเนินต่อไป

ปริศนาธรรม” จึงเป็นกลวิธีในการสอนธรรมะอย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

นี่ก็เป็น “ปริศนาธรรม” –

: ยาจกอยู่หอ

: หมอไม่รักษาไข้

: ใบ้ร้องเพลง

ขอเชิญนักเลงมาแก้เอาไปเอย

#บาลีวันละคำ (2,785)

27-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย