บาลีวันละคำ

เบญจโครส (บาลีวันละคำ 2,858)

เบญจโครส

อ่านว่า เบ็น-จะ-โค-รด

ประกอบด้วยคำว่า เบญจ + โครส

(๑) “เบญจ

บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

(๒) “โครส

บาลีอ่านว่า โค-ระ-สะ แยกศัพท์เป็น โค + รส

(ก) “โค” รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น โค

: คมฺ + = คม > โค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งสัตวโลกทั้งหลาย” (2) “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ

โค” ในบาลีหมายถึง (1) แผ่นดิน (the earth) (2) วัว (a cow, an ox, bull)

(ข) “รส” บาลีอ่านว่า ระ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รสฺ (ธาตุ = ยินดี; ติดใจ, เยื่อใย) + ปัจจัย

: รสฺ + = รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นที่ยินดีแห่งเหล่าสัตว์” (2) “สิ่งอันเหล่าสัตว์ติดใจ” “สิ่งเป็นเหตุติดใจ

(2) (แทนศัพท์ “รม” = พอใจ) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: + อสฺ = รส + กฺวิ = รสกฺวิ > รส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สัตว์พอใจกิน

รส” ในบาลีใช้ในความหมายหลายหลากมากกว่าที่เรารู้กันในภาษาไทย พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ รวบรวมไว้ดังนี้ –

(1) juice (น้ำผลไม้)

(2) taste as [objective] quality, the sense-object of taste (รสในฐานเป็นคุณลักษณะ [เชิงวัตถุวิสัย], รสายตนะ)

(3) sense of taste, as quality & personal accomplishment (ความรู้สึกเกี่ยวกับรสในฐานเป็นใหญ่ และความสำเร็จส่วนตน)

(4) object or act of enjoyment, sensual stimulus, material enjoyment, pleasure (วัตถุ หรือสิ่งเร้าเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน, สิ่งกระตุ้นทางอารมณ์, ความเพลิดเพลินทางวัตถุ, สุขารมณ์)

(5) flavour and its substance or substratum (รสและสาระของรส หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นรส)

(6) essential property, elegance, brightness (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ, ความสง่างาม, ความเจิดจ้า)

(7) essential property [in philosophy] (สมบัติอันเป็นสาระสำคัญ [คำเฉพาะในทางปรัชญา])

(8) fine substance, semi-solid semiliquid substance, extract, delicacy, fineness, dust (สิ่งของที่ละเอียดอ่อน, สิ่งของครึ่งแข็งครึ่งเหลว, สิ่งที่กลั่นออกจากของอื่น, ของที่แบบบาง, ความละเอียด, ละออง)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รส : (คำนาม) สิ่งที่รู้ได้ด้วยลิ้น เช่น เปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด, โดยปริยายหมายถึง ความไพเราะ เช่น กลอนบทนี้ไม่มีรส. (ป., ส.).”

โค + รส = โครส (โค-ระ-สะ) แปลว่า “รสอันเกิดแต่โค

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โครส” ว่า produce of the cow, enumd in set of five (ผลิตผลของโคซึ่งระบุไว้ว่ามี 5 อย่างด้วยกัน):

(1) khīra ขีร (ขี-ระ) = milk = นมสด

(2) dadhi ทธิ (ทะ-ทิ) = cream = นมส้ม

(3) takka ตกฺก (ตัก-กะ) = buttermilk = เปรียง

(4) navanīta นวนีต (นะ-วะ-นี-ตะ) = butter = เนยข้น

(5) sappi สปฺปิ (สับ-ปิ) = ghee = เนยใส

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โครส : (คำนาม) สิ่งที่ได้จากนมโค (มี ๕ อย่าง คือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง เรียก ปัญจโครส หรือ เบญจโครส). (ป., ส.).”

ปญฺจ + โครส = ปญฺจโครส (ปัน-จะ-โค-ระ-สะ) >

ปญฺจโครส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เบญจโครส” (เบ็น-จะ-โค-รด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เบญจโครส : (คำนาม) สิ่งที่ได้จากนมโค ๕ อย่าง คือ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น เปรียง. (ป. ปญฺจโครส).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

เบญจโครส : โครส คือ ผลผลิตจากนมโค ๕ อย่าง ได้แก่ ขีระ (นมสด) ทธิ (นมส้ม) ตักกะ (เปรียง) สัปปิ (เนยใส) นวนีตะ (เนยข้น), พึงทราบว่า เนยข้นนั้น มีลักษณะเป็นก้อน ท่านจึงเติมคำว่า “ปิณฑะ” เข้าไป เป็น นวนีตปิณฑะ หรือโนนีตปิณฑะ (เช่น ขุ.เถร.๒๖/๑๑๕/๒๑๔).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โค-จะมีใจดีหรือไม่ดี มันก็มีดีถึงห้ารส

: คน-ถ้ามีจิตคิดคด จะเหลืออะไรไว้เป็นดี

#บาลีวันละคำ (2,858)

9-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย