สามารถ (บาลีวันละคำ 1,185)
สามารถ
อ่านว่า สา-มาด
“สามารถ” เป็นรูปคำอิงสันสกฤต “สมรฺถ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“สมรฺถ : (คำคุณศัพท์) ‘สมรรถ,’ พลวัต, แข็งแรง; มีความคิดต่อกัน; เหมาะ; มีความสามารถ; powerful, strong; connected in sense; fit or proper; able or capable.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สามารถ : เป็นคำช่วยกริยาบอกว่ามีคุณสมบัติที่จะทำได้ เช่น เขาสามารถเดินได้ชั่วโมงละ ๕ กิโลเมตร เพื่อนฉันสามารถขี่จักรยานไต่ลวดได้. (คำวิเศษณ์) มีคุณสมบัติที่จะทำได้ โดยเฉพาะทางความรู้หรือความชำนาญเป็นต้น เช่น ลูกเขาเป็นคนสามารถเรียนอะไรก็เรียนได้. (ส. สมรฺถ; ป. สมตฺถ).
“สามารถ” บาลีเป็น “สมตฺถ” (สะ-มัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก สมตฺถฺ (ธาตุ = อาจ, สามารถ) + อ ปัจจัย
: สมตฺถ + อ = สมตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สามารถ”
ความจริง คำแปล “สมตฺถ” ว่า “ผู้สามารถ” นั้นเป็นการแปลทับศัพท์ ยังไม่ใช่คำแปลตามตัว
ในภาษาไทย เราใช้คำทับศัพท์ว่า “สามารถ” จนเข้าใจกันได้โดยไม่ต้องแปล
นักภาษาบอกว่า “สมตฺถ” รากศัพท์จริงควรมาจาก สํ (พร้อมกัน, รวมกัน) + อตฺถ (สิ่งที่ต้องการ, ความมุ่งหมาย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม)
: สํ > สม + อตฺถ = สมตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “(บรรลุ) ความมุ่งหมายได้หมด” = การกระทำอันใดยังผู้ทำให้บรรลุถึงความมุ่งหมายหรือความต้องการได้สมประสงค์ การกระทำอันนั้นชื่อว่า สมัตถะ = สามารถ หมายถึง อาจ (ที่จะทำหรือที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้), แข็งแรง (able, strong)
ความคิดเห็น : “สามารถ” กับ “อาจ”
ในภาษาไทย เรามักใช้คำว่า “สามารถ” กับคำว่า “อาจ” แทนกัน
บางกรณีแทนกันได้สนิท แต่บางกรณีก็แทนไม่สนิท
พจน.54 บอกไว้ว่า –
สามารถ : “เป็นคำช่วยกริยาบอกว่ามีคุณสมบัติที่จะทำได้” ควรหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นต้องเกิดจากความตั้งใจของผู้ทำเท่านั้น เกิดเองลอยๆ ไม่ได้
อาจ : “เป็นคําช่วยกริยาบอกความคาดคะเน” ควรหมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดเองตามสภาพของสิ่งนั้น หรือเกิดจากความตั้งใจของผู้ทำก็ได้
ตัวอย่าง :
(1) เสาไฟฟ้าต้นนี้เอนมาก อาจล้มลงมาเมื่อไรก็ได้ = เสาไฟฟ้าล้มเองตามสภาพ
(2) เสาไฟฟ้าต้นนี้เอนมาก สามารถล้มลงมาเมื่อไรก็ได้ = เสาไฟฟ้าตั้งใจจะล้ม?
: เกิดมาแล้วไม่มีใครสามารถรอดตายได้
: แต่สามารถรอดจากการเวียนเกิดเวียนตายได้
27-8-58