อาพาธึก (บาลีวันละคำ 2,864)
อาพาธึก
คำพิลึก แต่มีจริง
อ่านว่า อา-พา-ทึก
“อาพาธึก” บาลีเป็น “อาพาธิก” อ่านว่า อา-พา-ทิ-กะ ประกอบด้วย อาพาธ + อิก ปัจจัย
(ก) “อาพาธ” บาลีอ่านว่า อา-พา-ทะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ป่วน) + อ ปัจจัย
: อา + พาธฺ + อ = อาพาธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียนอย่างยิ่ง” “อาการที่ทำให้ปั่นป่วน” หมายถึง ความไข้, ความเจ็บป่วย, โรคภัยไข้เจ็บ (affliction, illness, disease)
ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อาพาธ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาพาธ : (คำกริยา) เจ็บป่วย (ใช้แก่ภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”
ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย แสดงสมุฏฐานของ “อาพาธ” ไว้ว่า –
(1) ปิตตสมุฏฺฐาน = เกิดจากน้ำดี
(2) เสมหสมุฏฺฐาน = เกิดจากเสมหะ
(3) วาตสมุฏฺฐาน = เกิดจากลม
(4) สันนิปาติกะ = เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน
(5) อุตุปริณามชะ = เกิดจากเปลี่ยนอากาศ
(6) วิสมปริหารชะ = เกิดจากบริหารร่างกายไม่เหมาะสม
(7) โอปักกมิกะ = เกิดจากเหตุปัจจุบันทันด่วน เช่นอุบัติเหตุ
(8) กัมมวิปากชะ = เกิดจากผลกรรม
ในจักกวัตตสูตร กล่าวไว้ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี มนุษย์จะมี “อาพาธ” เพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ –
(1) อิจฺฉา = ความอยากกิน
(2) อนสนํ = ความไม่อยากกิน
(3) ชรา = ความแก่
(ข) อาพาธ + อิก = อาพาธิก (อา-พา-ทิ-กะ) แปลว่า “ผู้มีความไข้” หมายถึง คนอาพาธ, คนป่วย (affected with illness, a sick person)
บาลี “อาพาธิก” ในภาษาไทยใช้เป็น “อาพาธิก” และแผลงเป็น “อาพาธึก” (จาก –ธิก สระ อิ เป็น –ธึก สระ อึ)
คำที่แผลงตามหลักเดียวกันนี้ก็อย่างเช่น –
กากณิก (กา-กะ-นิ-กะ) = กากณึก (กา-กะ-หฺนึก. ทรัพย์มีราคาเล็กน้อย)
จาริก = จารึก (ความหมายเหมือน “จาริก” และยังหมายถึงเขียนหรือจารให้เป็นรอยลึกเป็นตัวอักษรหรือภาพเป็นต้นบนแผ่นศิลา โลหะ หรือดินเป็นต้น)
โชติก (โช-ติ-กะ) = โชดึก (ผู้มีความรุ่งเรือง) (คำเก่าสะกดเป็น-โชฎึก-ก็มี)
ปจฺจนีก (ปัด-จะ-นี-กะ) = ปัจนึก (ข้าศึก, ศัตรู)
ผลิก (ผะ-ลิ-กะ) = ผลึก (แก้วผลึก, ตกผลึก)
อธิก (อะ-ทิ-กะ) = อธึก (ยิ่ง, เกิน, มาก, เพิ่ม, เลิศ)
อนีก (อะ-นี-กะ) = อนึก (กองทัพ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาพาธิก, อาพาธึก : (คำวิเศษณ์) เป็นไข้, เจ็บป่วย, เป็นโรค. (ป., ส.).”
ขยายความ :
เมื่อเอ่ยถึงความเจ็บป่วยหรือ “อาพาธ” สำนวนบาลีนิยมใช้ “ศัพท์ชุด” หรือ “ศัพท์พวง” คือคำที่พูดควบกันเสมอ ในกรณีนี้ก็คือ “อาพาธิโก ทุกฺขิโต พาฬฺหคิลาโน” (ในที่นี้แสดงเป็นปุงลิงค์)
อาพาธิก : คนอาพาธ, คนป่วย (affected with illness, a sick person)
ทุกฺขิต : ได้รับทุกข์, มีทุกข์, เป็นทุกข์, มีความลําบาก, ผิดหวัง; ทุกข์ยาก, ลําบาก, ป่วยไข้ (afflicted, dejected, unhappy, grieved, disappointed; miserable, suffering, ailing)
พาฬฺหคิลาน : ป่วยมาก, เจ็บหนัก (very ill, grievously sick)
ถ้ามาเป็นชุดอย่างนี้แสดงว่า บรรยายความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ตรงตามอรรถรสของบาลี
อภินันทนาการ :
เพื่อเป็นการเจริญสติ คือความไม่ประมาทในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขอนำบท “อภิณหปัจจเวกขณะ” มาเสนอเป็นอภินันทนาการ
จะตัดมาเฉพาะความไม่ประมาทในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บข้อเดียว ก็เสียดายข้ออื่นๆ อีก จึงขอยกมาทั้งชุดหรือทั้งพวง ถือว่าเป็นหลักนิยมอย่างหนึ่งของธรรมะ คือเมื่อปฏิบัติข้อหนึ่งแล้วก็ควรปฏิบัติให้ครบทั้งชุด
ในที่นี้มี “คำนัด” ติดมาด้วย เผื่อว่าใครจะอัญเชิญไปสวดสาธยายเป็นหมู่คณะจะได้ขึ้นคำนัด (หันทะ มะยัง ..) ก่อนตามแบบฉบับ
อนึ่ง โปรดทราบว่า คำในวงเล็บคือคำสวดของสตรี ส่วนบุรุษสวดตามปกติ
…………..
(ขึ้น) หันทะ มะยัง อะภิณหะปัจจะเวกขะณะปาฐัง ภะณามะ เส
ชะราธัมโมมหิ (-มามหิ)
เราเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา
ชะรัง อะนะตีโต (-ตา)
เราจะล่วงความแก่ไปไม่ได้
พยาธิธัมโมมหิ (-มามหิ)
เราเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
พยาธิง อะนะตีโต (-ตา)
เราจะล่วงความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ (-มามหิ)
เราเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา
มะระณัง อะนะตีโต (-ตา)
เราจะล่วงความตายไปไม่ได้
สัพเพหิ เม ปิเยหิ มะนาเปหิ
นานาภาโว วินาภาโว
เราจะละเว้นเป็นต่างๆ
คือว่าจะพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง
กัมมัสสะโกมหิ (-กามหิ)
เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
กัมมะทายาโท (-ทา)
เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนี
เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธุ (-พันธู)
เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระโณ (-ณา)
เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสามิ
เราจักทำกรรมอันใดไว้
กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา
ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาโท (-ทา) ภะวิสสามิ
เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น
เอวัง อัมเหหิ อะภิณหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง.
เราทั้งหลายพึงพิจารณาอย่างนี้ทุกๆ วันแล.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เจ็บป่วยคือใบเตือนของความตาย
: เราโชคดีมากมาย
เพราะหลายคนตายโดยไม่มีใบเตือน
#บาลีวันละคำ (2,864)
15-4-63