บาลีวันละคำ

เมรุ (บาลีวันละคำ 36)

เมรุ

บาลีอ่านว่า เม-รุ

เมรุ” รากศัพท์มาจาก –

(1) มิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ มิ) เป็น เอ

: มิ + รุ = มิรุ > เมรุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูเขาที่เบียดบังภูเขาทั้งหมดด้วยความสูงกว่าของตน” (2) “ภูเขาที่เบียดเบียนความมืดด้วยรัศมี

(2) เม (ธาตุ = แลกเปลี่ยน) + รุ ปัจจัย

: เม + รุ = เมรุ แปลตามศัพท์ว่า “ภูเขาเป็นที่แลกเปลี่ยนความอภิรมย์กันแห่งพวกเทวดา

เมรุ” เป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล คัมภีร์บรรยายว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนยอดเขาลูกนี้

มีคติความเชื่อว่า เขาเมรุเป็นแดนสวรรค์ เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ สมมุติว่าเสด็จคืนสู่สวรรค์ สถานที่ถวายพระเพลิงจึงเรียกว่า “พระเมรุ” และเรียกที่เผาศพคนทั่วไปว่า “เมรุ

เขานี้ยังมีชื่อว่า สิเนรุ และ สุเมรุ อีกด้วย

คนไทยคุ้นกับคำว่า สุเมรุ จึงมักเรียกว่า “เขาพระสุเมรุ

เมรุ หรือ สุเมรุ ถ้าเป็นคำสมาส อยู่กลางคำ อ่านว่า เม-รุ เช่น เมรุมาศ (เม-รุ-มาด)

ถ้าไม่ได้สมาสกับคำอื่น อ่านว่า เมน เช่น –

“ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ”

พูดว่า ขอเชิญขึ้นทอดผ้าบังสุกุลบน เมน

ไม่ใช่ … บน เม-รุ

บาลีวันละคำ (36)

8-6-55

เมรุ = เขาพระสุเมรุ, ภูเขาหลวง (เนรุ สิเนรุ สุเมรุ ติทิวาธาร) (ศัพท์วิเคราะห์)

– มินาติ สพฺเพ ปพฺพเต อตฺตโน อุจฺจตรตฺเตนาติ เมรุ ภูเขาที่เบียดบังภูเขาทั้งหมดด้วยความสูงกว่าของตน

มิ ธาตุ ในความหมายว่าเบียดเบียน รุ ปัจจัย, พฤทธิ์ อิ เป็น เอ

– มินาติ หึสติ รํสีหิ อนฺธการนฺติ เมรุ ภูเขาที่เบียดเบียนความมืดด้วยรัศมี (เหมือน วิ. ต้น)

– เมนฺติ มยนฺติ วา อาทยนฺติ ปฏิททนฺติ เอตฺถาติ เมรุ ภูเขาเป็นที่แลกเปลี่ยนความอภิรมย์กันแห่งพวกเทวดา

เม ธาตุ ในความหมายว่าแลกเปลี่ยน รุ ปัจจัย

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย