อนุญฺญาต (บาลีวันละคำ 37)
อนุญฺญาต
อ่านว่า อะ-นุน-ยา-ตะ
เอามาใช้ในภาษาไทยเขียนว่า “อนุญาต” อ่านว่า อะ-นุ-ยาด
อนุญฺญาต/อนุญาต แปลตามศัพท์ว่า “รู้ภายหลัง” หรือ “รู้ตาม”
หมายความว่า มีความต้องการอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก่อน ผู้มีสิทธิหรือมีอำนาจที่จะสนองความต้องการนั้นก็รับรู้ทีหลัง หรือรับรู้ตามที่ต้องการ และมิได้ปฏิเสธความต้องการนั้น
อนุญาต จึงมีความหมายว่า ยินยอม, ยอมให้, ตกลง
อนุญาต มักเขียนผิดเป็น อนุญาติ (มีสระ อิ เกินเข้ามาที่ ต เต่า) เพราะมีแนวเทียบผิด คิดถึงคำว่า “ญาติ”
ญาติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ที่ยังรู้จักกัน” เป็นคนละคำกับ อนุญาต
ถ้าเขียนว่า “อนุญาติ” (มีสระ อิ เกิน) ก็อาจแปลได้สนุกๆ ว่า “ญาติผู้น้อย” ที่คู่กับ “ญาติผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นคนละความหมายกับ อนุญาต
เขียนคำว่า “อนุญาต” ต้องขาดสระ อิ
ประเดี๋ยวจะถูกญาติตำหนิ ว่า ทำไมไม่อ่าน “บาลีวันละคำ”
บาลีวันละคำ (37)
9 6 55